กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระตุ้นศก.ชุมชนตามโครงการไมซ์เพื่อชุมชน
1297
https://www.js100.com/en/site/news/view/58569
COPY
10 กรกฎาคม 2561, 16:02น.
สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” มุ่งหวังนำอุตสาหกรรมไมซ์ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน พร้อมพัฒนาจุดหมายใหม่ในการรองรับงานประชุมฝึกอบรม จัดการเรียนรู้ และการศึกษาดูงานในประเทศ เพื่อสอดรับนโยบายรัฐบาล ในการใช้อุตสาหกรรมไมซ์ สร้างรายได้และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยครั้งนี้ได้มาลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) TCEB กล่าวว่า TCEB (ทีเส็บ) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการจัดประชุม งานแสดงสินค้า และการเดินทาง หรือ อุตสาหกรรมไมซ์ มีจุดประสงค์ที่จะส่งเสริมและพัฒนาแหล่งศึกษาดูงานใหม่ๆในประเทศ โดยเล็งเห็นว่าชุมชนสหกรณ์มีศักยภาพที่สามารถทำได้ รวมทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย เช่น กว่า 40บริษัท ที่เข้าร่วมดูงานสหกรณ์บ้านลาดในครั้งนี้ จากที่ผ่านมา เวลามีการประชุมนอกสถานที่ มักไปที่ท่องเที่ยวหลักๆที่นิยม เวลารับประทานอาหารว่างก็มักเป็นขนมปัง กาแฟ แต่ครั้งนี้ได้มารู้ว่าระหว่างทางนั้น ยังมีชุมชนที่มีสินค้า ผลิตภัณฑ์มากมาย ที่นำไปใช้เป็นอาหารว่าง หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย ด้วยการดำเนินการของชุมชนหรือชาวบ้าน นอกจากนี้ยังคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ต้องการต่อยอดเพื่อช่วยชุมชนได้อย่างแท้จริง ในครั้งนี้ทีเส็บร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ทำโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” ขึ้น โดยทำการคัดเลือกชุมชนสหกรณ์ ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นจุดหมายใหม่สำหรับธุรกิจไมซ์ เพื่อเป็นกลไกผลักดันให้เกิดการจับคู่ธุรกิจสินค้าในชุมชนกับองค์กรธุรกิจต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาชุมชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
นายพิเชษฐ์ วิริยะพานิช อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า จากการปรึกษาร่วมกัน จนนำมาสู่การหาสหกรณ์ชุมชนเข้มแข็ง จากสหกรณ์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะสหกรณ์ในภาคเกษตรที่สำคัญหลายชนิด ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้ นม กาแฟ ไข่ไก่ โคเนื้อ และสินค้าเศรษฐกิจระดับประเทศ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพาราและอ้อย สำหรับที่สหกรณ์บ้านลาด จ.เพชรบุรี ที่ผ่านมาที่นี่ไม่เคยมีปัญหาด้านสินค้าล้นตลาด เพราะมีกระบวนการตั้งแต่ชุมชน นำไปสู่ระบบสหกรณ์ ก่อนนำไปสู่ภาคเอกชน คาดว่า จะสามารถขยายผลต่อไปในภาคอื่น และจังหวัดอื่นๆ ได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าท่านได้เห็นสินค้าของชุมชน ก็สามารถให้ความเห็นกับชาวบ้านได้โดยตรง เพื่อการนำไปปรับปรุงต่อยอดไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน เพราะถือเป็นประโยชน์ในการสร้างรายได้แก่ชุมชน และผู้บริโภคก็จะได้รับสินค้าที่ถูกใจ
นายศิริชัย จันทร์นาค ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด กล่าวว่า จุดเด่นของสหกรณ์บ้านลาด คือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ จากที่ผ่านมาเวลาชุมชนผลิตสินค้าออกมาต้องคิดว่าจะนำไปที่ไหนต่อ แต่วันนี้มีตัวอย่าง กล้วยหอมบ้านลาด ซึ่งจะมีการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ปลูกที่ต้องไร้สารพิษ จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ปัจจุบันมีการส่งออกไปสู่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีกล้วยเบรคแตก กล้วยอาบแดด ทองม้วน น้ำตาลโตนด หรือการนำใบตองมาทำเป็นเซรั่มบำรุงผิว ที่ผ่านการทำวิจัยแล้ว ในขณะนี้อยู่ระหว่างการขอเลขที่จดแจ้ง ส่วนต้นกล้วยหอม มีการนำมาสับอย่างละเอียด ก่อนนำไปทำเป็นสครับ ขัดผิว โดยทั้งหมดพยายามจะทำให้ต้นกล้วย 1ต้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการแปรรูปต่อยอดได้แบบ 100% ซึ่งแต่ละปีสหกรณ์จะมีเงินหมุนเวียนกว่า 800ล้านบาท ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี โดยความสำเร็จนี้มาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนในสโลแกน “บ้านลาด บ้านเรา” โดยหวังว่าในอนาคตหากได้รับการส่งเสริมจากเอกชนมากขึ้น ก็จะยิ่งสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชนได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ทุกวันที่ 5มิถุนายน ของทุกปี จะมีงานวันข้าวและชาวนาไทย จะมีการจัดการประกวดอาหารพื้นบ้าน ในปีนี้ที่ได้รางวัลคือ “แกงหัวตาล” ที่มีหน้าตาและรสชาติ คล้ายน้ำยาที่รับประทานกับขนมจีน แต่จะต่างกันตรงที่มีหัวตาล เนื้อตาล เป็นส่วนประกอบด้วย โดยมีการพามาที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาตาลโตนด โดยนายถนอม ภู่เงิน เพื่อลงพื้นที่ดูสวนตาลตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก จนสามารถนำไปแปรรูป หรือทำน้ำตาล หรือทำขนมได้
ผู้สื่อข่าว:วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์
ข่าวทั้งหมด