นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุเรือล่มในจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานการประชุม ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางการช่วยเหลือญาติผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์เรือล่ม
นายนรภัทร กล่าวว่า จากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาในวันนี้ได้ให้คำแนะนำในการดำเนินการ เพื่อกำหนดแนวทางช่วยเหลือญาติผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์เรือล่ม โดยขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดทำป้ายให้กับประชาชนอาสาที่มาทำหน้าที่ล่าม เพื่อเป็นสัญญลักษณ์แสดงตัวตนการทำหน้าที่ล่ามให้มีความชัดเจน พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ ซักซ้อมทำความเข้าใจด้านข้อมูลให้กับล่ามเพื่อให้ล่ามได้มีความรู้ความเข้าใจสามารถนำไปถ่ายทอดและช่วยเหลือญาติของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ในส่วนของการเยียวยาผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจำแนกสิทธิผลประโยชน์ที่ญาติของผู้เสียชีวิตและสิทธิที่ผู้บาดเจ็บจะได้รับโดยแยกเป็นจำพวกให้มีความชัดเจน
สำหรับการออกใบมรณะบัตรในส่วนของอำเภอเมืองภูเก็ตได้ดำเนินการออกให้แล้วจำนวน 10 ราย ส่วนการจัดการศพเปิดให้ญาติของผู้เสียชีวิตเข้าดูศพเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อดำเนินการเปลี่ยนเสื้อผ้าให้กับผู้เสียชีวิต
นอกจากนี้ในส่วนของญาติผู้เสียชีวิตได้ขอความอนุเคราะห์จังหวัดภูเก็ตช่วยดำเนินการจัดพิธีเรียกขวัญ ณ บริเวณท่าเทียบเรืออ่าวฉลองเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับญาติของผู้เสียชีวิตได้รับปากที่จะให้การช่วยเหลือโดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการ
ขณะที่ การปฎิบัติภารกิจในวันนี้ นาวาตรีสวพัศ สถิตย์เสถียร ผู้บังคับการเรือหลวงหัวหิน ซึ่งเป็นเรือที่ออกปฏิบัติ ระบุว่า ช่วงเช้าได้มีเรือหลวงเจ้าพระยา ออกไปสำรวจสภาพในทะเล และประเมินว่า ไม่สามารถปฏิบัติการได้ อาจจะเป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่ด้วย จึงได้เลื่อนปฏิบัติออกไปชั่วคราว เมื่อสภาพอากาศดีขึ้น จะมีปฏิบัติการอีกครั้งการค้นหาผู้สูญหาย และผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือล่ม โดยมีแผนการทำงานที่วางไว้เดิม คือ การพ่นทรายใต้น้ำ บริเวณที่พบร่างผู้เสียชีวิตติดอยู่ใต้ซากเรือ 1 คน และเตรียมหาแนวทางพลิกซากเรือเพื่อตรวจสอบข้างใต้ทั้งหมด
ส่วนการจัดการศพเรือล่ม พิธีกรรมทางศาสนา นายสันติ ป่าหวาย รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่อง พิธีการทางศาสนาและการส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับประเทศ ได้ข้อสรุปการประชุม ดังนี้ ศูนย์อำนวยการจัดตั้ง ณ วัดโฆษิตวิหาร โดยมีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เป็นหน่วยประสานงานหลัก จะจัดตั้งชุดทีมประสานงาน จาก กรมศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
มูลนิธิกุศลธรรม ศูนย์TAC และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งเรื่องเอกสารและพิธีกรรมจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และเดินทางกลับประเทศพร้อมอัฐิ ซึ่งจะส่งต่อให้ศูนย์ประสานงานที่สนามบินดูแลอำนวยความสะดวกต่อไป
เทศบาลนครภูเก็ตจะอำนวยความสะดวกจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนราษฎรไปคอยบริการออกใบมรณบัตรที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตและที่วัดโฆษิตวิหาร วัดที่ประกอบพิธีฌาปนกิจมีทั้งหมด 15 วัด ทำพิธีเผาได้สูงสุดวัดละ 2 ศพ/วัน ยกเว้นวัดม่าหนิก เผาได้ 4 ศพ/วัน
หากนับถือศาสนาคริสต์ และญาติและครอบครัวประสงค์จะฝังที่จ.ภูเก็ต สามารถฝังได้ที่สุสานคริสเตียน พิธีทางศาสนาอิสลาม จะมี มัสยิดทั้งหมด 58 แห่ง และมี โต๊ะอิหม่ามประจำในแต่ละมัสยิดดูแลทำพิธีให้
กรณีนำศพกลับประเทศ จะมีบริษัทสกายเทรด เซอร์วิส ซึ่งบริการด้านการขนส่งคาโก้ อำนวยความสะดวกในการนำศพกลับประเทศ บริการครบวงจรตั้งแต่แพคหีบห่อ และเอกสารทั้งต้นทางและปลายทางฝ่ายกระทรวงต่างประเทศจะยกเว้นค่าธรรมเนียมการแปลเอกสารแต่รับรองต่างๆทุกชนิด
สำหรับค่าธรรมเนียมการต่ออายุวีซ่า ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประสบภัยทุกกรณี และท่าอากาศยานภูเก็ตตั้งศูนย์อำนวยความสะดวก รวม 3 จุด ประสานงานส่วนที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกการขนส่งร่างผู้เสียชีวิตผ่านทางคลังสินค้าท่าอากาศยานภูเก็ต
ผู้สื่อข่าว:อชัถยา ชื่นนิรันดร์