การฟื้นฟูสภาพป่าพรุที่เสื่อมโทรมและถูกไฟไหม้ ก่อนการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการป่าพรุโต๊ะแดง ครั้งที่ 3 จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาการบริการจัดการป่าพรุโต๊ะแดง ที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส นายอภิชาติ รัตนวิระกุล หัวหน้าสถานีทดลองปลูกพันธุ์ไม้พิกุลทอง ศูนย์พิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า ปัจจุบันมีป่าพรุ ประมาณเกือบ 10,000 ไร่ อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมโดยประมาณ 6,000 ไร่ มีสาเหตุมาจากไฟไหม้ ส่วนที่เหลือเป็นลักษณะเสื่อมโทรมจากการถูกบุกรุก โดยเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งแนวทางของการฟื้นฟู หลังได้ทดลองแล้วพบว่า มีพันธุ์ไม้จำนวน 13 ชนิด ที่เหมาะสม สำหรับการปลูกในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เช่น เสม็ดขาว หว้าน้ำ เลือดควายใบใหญ่ หญ้าหิน สะเตียว จากการติดตามผลพันธุ์ไม้ที่มีการเจริญเติบโตได้เร็วคือ เสม็ดขาว ในระยะ 14 วัน สามารถเติบโตได้ร้อยละ 20 สูงกว่าพันธุ์ไม้อื่นๆ และไม่จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยการเจริญเติบโตมาก เพียงแค่มีน้ำ อีกทั้งยังมีโอกาสการอยู่รอดสูงด้วย ขั้นต้น จะใช้ปลูกเพื่อยึดครองพื้นที่ หลังจากนั้น จะปรับสภาพดินที่เสื่อมโทรม ทั้งจากไฟไหม้ และจากปัจจัยอื่นๆ ก่อนนำพันธุ์ไม้ชนิดอื่นมาปลูกเสริม
ขณะที่ การนำพันธุ์ไม้เข้าไปปลูกในพื้นที่ ปัจจุบันใช้วิธีขนย้าย แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องขนาดกล้าไม้ จำนวน และงบประมาณที่สูงประมาณ 8,000-10,000 บาทต่อไร่ จึงได้เตรียมใช้วิธีการว่านบนอากาศ โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนที่บินสำรวจและล่าตระเวน นำเมล็ดพันธุ์ไม้โปรยเข้าพื้นที่ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการทดลองลักษณะนี้ เพราะการหว่านเมล็ดในอากาศ จะสามารถเข้าถึงพื้นที่ลึกได้ และคาดว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณได้ หลังโปรยแล้วจะติดตามประเมินผล ว่ามีโอกาสเติบโตของพันธุ์ไม้มากเพียงใด หากเป็นที่น่าพอใจอาจใช้เป็นวิธีหนึ่งเพื่อปลูกพรรณไม้ในพื้นที่ป่าพรุ ในอนาคตการหาพันธุ์ไม้อื่นๆ เพื่อปลูกในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือถูกไฟไหม้ นายอภิชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันได้ทดลองพันธุ์ไม้อื่นแล้ว แต่ใช้สำหรับการอนุรักษ์เท่านั้น เพราะพันธุ์ไม้เหมาะสม ที่จะนำมาเพื่อการฟื้นฟู พื้นที่ขนาดใหญ่ มี 13 ชนิดที่ได้ทำการทดลองแล้ว
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม