การเสนอแนวทางการช่วยเหลือนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี ทั้ง 13 คน นายไพโรจน์ ทุ่งทอง สถาปนิกจากจังหวัดอุทัยธานี ที่เดินทางมาร่วมเสนอแนวคิดการช่วยเหลือ เปิดเผยว่า ได้เสนอแนวคิดการนำท่อลมไนล่อนมาใช้ ซึ่งเป็นท่อลมโปร่งอากาศใช้วัสดุหนาเช่นเดียวกับเรือยางของหน่วยซีล ซึ่งมีความแข็งแรง สามารถรับแรงขีดข่วน หรือความคมของหินในถ้ำได้ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองร่วมกับนายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในระยะ 30 เมตร ในพื้นที่ที่มีความใกล้เคียงกับสภาพถ้ำ พร้อมกับเปิดเผยว่า ท่อลมผ้าใบสามารถรับน้ำหนักในระยะ 1 เมตรได้มากถึง 100 กิโลกรัม ทำให้ในระหว่างที่นำเด็กออกมาจากถ้ำ หน่วยซีล สามารถไปประจำตลอดเส้นทาง 100 เมตรต่อ 1 คนได้ฃ
ขณะเดียวกัน ท่อลมผ้าใบดังกล่าวยังสามารถรองรับแรงดันน้ำได้มากถึง 2 บาร์ นายไพโรจน์ กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงการเสนอแนวคิดที่เป็นทางเลือก เนื่องจาก ยังไม่มีผลงานวิจัยรองรับ และถือเป็นการคิดค้นในครั้งแรก แต่ไม่ยืนยันว่าแนวคิดดังกล่าวจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึง กรณีที่นักดำน้ำจากต่างประเทศ ติดต่อเข้ามาช่วยเหลือว่า น่าจะอยู่ในเกณฑ์ เกิน 6 คนขึ้นไป ซึ่งจะมีการดูแลเรื่องของที่พัก การเดินทาง อาหารทุกอย่าง และสิ่งที่สำคัญคือการที่ต้องดูแลผู้ที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสูงสุด และใช้ทักษะเฉพาะคน ซึ่งเมื่อใดที่นักดำน้ำเหล่านั้นส่งสัญญาณออกมาว่าต้องการการสนับสนุนจะดำเนินการจัดหาให้
ขณะที่ บรรยากาศภายในวนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ล่าสุด เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งสูบน้ำออก ก่อนฝนจะตกหนักภายใน 3-4 วันนี้เพราะหากล่วงเลยเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำหลากจะทำให้พื้นที่บริเวณเนินนมสาวที่เด็ก ๆ อยู่จะเหลือพื้นที่เพียง 10 ตารางเมตร
ผู้สื่อข่าว: ปิยะธิดา เพชรดี