การสำรวจโพรงถ้ำเพื่อหาแนวทางเจาะเข้าช่วยเหลือเยาวชนนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี และโค้ชรวม 13 คน นักปีนผา จากชมรมนักปีนผาที่หาดไร่เลย์ ได้เดินทางมาเข้าสำรวจโพรง ก็ได้ระบุว่า วันนี้ พบ 1 โพรง ถือว่าเป็นข่าวดี แต่วันนี้ยังไม่วามารถเข้าสำรวจได้เพราะ ทีมงานยังมาไม่ครบ แต่พรุ่งนี้จะเข้าสำรวจทันที
ส่วนทีมงานเก็บรังนกนางแอ่นเกาะลิบง จังหวัดตรัง ผู้ชำนาญในการปืนเขาและโรยตัวลงไปในโพรงหรือหน้าผา เข้าปฏิบัติภารกิจโรยตัวสำรวจภายในโพรง บนเขาถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน กับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทหาร กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 จังหวัดเชียงราย และเจ้าหน้าที่ศูนย์กู้ภัยและมวลชนสัมพันธ์ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่นำทาง
โดยจากการเดินขึ้นเขาจากจุดเริ่ม คือดอยผาหมี ซอย 8 เริ่มเดินเท้าขึ้นเขา ระยะทางที่เดินเป็นภูเขาสูงชัน สลับกับก้อนหินใหญ่ บางจุดเป็นหน้าผาสูง โดยวันนี้ขึ้นมาถึงยอดเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 1,096 ฟุต พบโพรงจำนวน 2 โพรงขนาดความกว้าง สามารถโรยตัวลงไปได้ทีละ 1 คน โดยทีมงานนกนางแอ่น ได้นำเชือกมะนิลา มัดกับตัวให้แน่น คล้องกับต้นไม้ มีอุปกรณ์เสริมคือ ลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ขวางไว้ตรงกลางโพรง จากนั้นก็โรยตัวลงไป ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ในการหารังนกนางแอ่นด้วย โดยแต่ละคนที่ลงไปในโพรงจะมีวิทยุสื่อสาร เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะ โดยไม่ขาดการติดต่อ เพื่อความปลอดภัย และบอกลักษณะภายในของโพรง ตลอดจนสภาพอากาศภายในโพรงไปด้วย
หลังจากการสำรวจทีมงานนกนางแอ่น ได้ขึ้นมาจากการสำรวจ นายวิโรจน์ คงเหล่า เล่าว่า ลงไปได้ไม่เกิน 100 เมตรโพรงตัน ไม่มีทางออก และ 2 โพรงที่พบ คือสามารถทะลุกันได้ ข้างล่างอากาศหายใจน้อย ซึ่งหลังจากนี้ก็จะสำรวจต่อ คิดว่าอยากสำรวจโพรงที่ไม่สูงขนาดวันนี้ที่ขึ้นมา โดยวิธีการหาโพรงเป็นอีกวิธีหนึ่งในทางเลือก ทำควบคู่ไปกับการนำผู้ประสบภัยออกมาทางปากทางถ้ำ
ส่วนบริเวณทางขึ้นดอย ผาฮี้ เจ้าหน้าที่ทหารจาก มณฑลทหารบกที่ 37 และเจ้าหน้าที่ภาคเอกชน วิศวกรรมสถาน เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธ์พืช ได้นำอุปกรณ์ ทั้ง ท่อเหล็ก ยาว 40 เมตร จำนวนหนึ่ง และสายท่อยาง ความยาว กว่า 100 เมตร จำนวน 17 ชุด ลำเลียงขึ้นไปบนบริเวณ ดอยผาฮี้ จากพื้นที่ ที่ตั้งเครื่องปั้นลมแรงสูง ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อต่อเป็นท่อไว้สำหรับ สนับสนุนการทำงานของเครื่องขุดเจาะ ถ้ำด้านบน เพื่อเป็นการสำรวจโพรง ที่คาดว่าจะเชื่อมไปยัง เนินนมสาว ที่เด็กๆทั้ง 13 คนอยู่ โดยการสำรวจจุดนั้น ทาง เจ้าหน้าที่จากวิศวกรรมสถานได้เข้ามาสำรวจจุดเดิมจากที่กรมชลประทานเข้ามาตรวจสอบให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นด้วย
นายชัยวัฒน์ ดุษฎีพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน จากกรมทรัพยากรบาดาล ระบุว่า การเข้าเจาะถ้ำขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมด และวิเคราะห์การทำงาน ซึ่งจะต้องทำงานกับหน่วยอื่นๆร่วมด้วย
ส่วนการปิดโพรงในจุดสำคัญเพื่อยับยั้งการเข้าของน้ำ ขณะนี้ได้มีการปิดโพรงสำคัญไปหลายจุดแล้ว ในช่วงทางท้ายของถ้ำ ถือว่ายับยั้งน้ำที่จะเข้าไปได้ถึงร้อยละ 30 แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมรสุมที่คาดว่าจะเข้าอีกหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับที่ทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เข้าไปตรวจเช็คและเสริมความแข็งแรงของฝาย ที่ทำเปลี่ยนทางไม่ให้น้ำไหลเข้าถ้ำ ผ่านทางโพรง ในระยะ 300 เมตร ที่บริเวณดอยผาฮี้ เช่นกัน เพื่อให้ประสิทธิภาพของการบายพาสน้ำนั้นดียิ่งขึ้น