มาตรการรณรงค์และเสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน นาย สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก จะทำงานเชิงรุกด้วยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปหากลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด เพื่อบังคับให้ทำใบขับขี่แล้ว ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูร่วมกับ สถาบันอาชีวะออกแบบระบบทดสอบออกใบอนุญาตขับขี่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เชื่อว่าจะทำให้การออกใบอนุญาตขับขี่มีประสิทธิภาพและช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น เพราะทุกคนที่จะได้ใบขับขี่ต้องผ่านการทดสอบจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยการปฏิรูปกระบวนการการออกใบอนุญาตขับขี่คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งระบบในปี 2562 ขณะเดียวกันกรมการขนส่งทางบกยังเดินหน้าสร้างระบบ E-driving คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ และยังมีการกำหนดให้สำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศต้องเป็นเขตสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย ตามโครงการ DLT Helmet Area ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน
นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกยังจัดกิจกรรมสร้างความรู้และปลูกจิตสำนึกให้แก่ผู้ขับขี่รถ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์หลายอย่าง เช่น จัดทำสกู๊ปรณรงค์ลดอุบัติเหตุจำนวน 22 ตอน, จัดทำเพลงและมิวสิควีดีโอ, จัดกิจกรรมประกวดคลิปส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนในระดับอุดมศึกษาชิงเงินรางวัล 1 แสนบาท และเข้าไปรณรงค์สร้างการขับขี่ปลอดภัยในมหาวิทยาลัย 4 แห่ง รวมไปถึงพยายามสร้างความรู้ในการขับขี่ที่ถูกต้องให้กระจายไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการขับขี่
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยังมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนได้คือ ตัวผู้ขับขี่เองที่จะต้องมีจิตสำนึกที่ดีในการขับขี่
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีรถจดทะเบียนทุกประเภทรวมกว่า 38 ล้านคัน 21 ล้านคันเป็นรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ทั้งยังเป็นยานพาหนะที่มีผู้ขับขี่เสียชีวิตมากที่สุดในแต่ละปี โดยสถิติของหน่วยงานต่างๆที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่าปีละ 16,000 คน