การเสวนา "จักรยานยนต์ปลอดภัย Smart Ride - Safe Lives" เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนและการขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยกรมการขนส่งทางบก พ.ต.อ.เอกราช ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า บนถนนทางหลวงที่มีระยะทางตรงเป็นส่วนมากนั้น มีสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ 3 ประการ ประการแรกคือ ขับรถเร็วและประมาท ประการสอง คือ ขับรถเบียด, ขับรถแทรก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่มักอาศัยช่องเล็กๆเบียดรถใหญ่ แต่กลับขับไม่พ้นจนเกิดอุบัติเหตุ และประการสามคือ การหลับใน ที่พบว่ารถทุกประเภทมักหลับในเมื่อขับรถในเส้นทางตรงที่มีระยะยาวเสมอ มองว่าการสร้างความปลอดภัยในการขับขี่ที่ดีที่สุดคือ ต้องเริ่มจากตัวเองด้วยการสร้างความรู้และการมีจิตสำนึกที่ดีในการขับขี่
ส่วนนาย อารักษ์ พรประภา ผู้อำนวยการศูนย์ขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า ระบุว่า จากสถิติพบว่าทุกวันนี้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ขับไปแล้วกลับไม่ถึงที่หมายวันละกว่า 26 คน และปัญหาการเกิดอุบัติเหตุของไทยเหมือนของประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งทางญี่ปุ่นได้สั่งให้จัดตั้งศูนย์ขับขี่ความปลอดภัย ทางฮอนด้าจึงได้นำวิธีดังกล่าวมาจัดตั้งศูนย์ขับขี่ปลอดภัยในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ด้านนาย ชัยธนา ไชยมงคล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน(สสปท.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แรงงานกว่า 38 ล้านคนทั่วประเทศทั้งในและนอกระบบมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด มองว่าวัฒนธรรมความปลอดภัยของไทยยังมีน้อยกว่าต่างประเทศมาก เห็นได้จากประสบการณ์ของตัวเองที่เคยไปอยู่ต่างประเทศ เช่น ที่เยอรมนีหากหยุดรถบนทางม้าลาย ผู้เดินข้ามถนนก็จะเคาะกระโปรงรถทันที ส่วนตัวมองว่าอนาคตอีก 10 ปี ควรมีการจำกัดความเร็วรถจักรยานยนต์ให้ไม่เกิน 50 กม.ต่อชั่วโมงเหมือนประเทศจีนในปัจจุบัน ทั้งมองว่าหากมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีก็จะช่วยให้ประชาชนลดการขับขี่รถส่วนตัว ซึ่งจะส่งผลให้ลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้