โครงการวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกข มรดกของแผ่นดิน "มะขามยักษ์ อัศจรรย์ ตำนานขุนแผน" ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. - 1 ก.ค. 2561 ที่วัดแค ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมเปิดเผยว่า โครงการวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี จังหวัดสุพรรณบุรี “มะขามยักษ์ อัศจรรย์ ตำนานขุนแผน” และโครงการเที่ยวงานวัดสุพรรณบุรี บ้านเรา “บันเทิงเริงใจ งานวัดเมืองสุพรรณฯ” จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นกิจกรรมที่สะท้อนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ช่วยสร้างความตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาให้แก่สังคม
สำหรับโครงการวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกข มรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี เป็นโครงการที่ดำเนินการด้วยการคัดเลือกต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ อายุกว่า 100 ปี และมีความสำคัญจากทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 500 ต้น และคัดเลือกให้เหลือเพียง 65 ต้น เพื่อประกาศขึ้นทะเบียนเป็นต้นไม้สำคัญของชาติ ซึ่งต้นมะขามยักษ์วัดแค ขนาด 7 คนโอบ ก็เป็นหนึ่งในต้นไม้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นต้นไม้สำคัญของชาติ เพราะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เรียกกันว่าต้นมะขามคู่บุญขุนแผน ซึ่งปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนที่ขุนแผนมาบวชและร่ำเรียนวิชาอาคมจากอาจารย์คงที่วัดแค และได้เรียนวิชาเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อตัวแตนไว้โจมตีข้าศึก ทางวัดจึงได้สร้างคุ้มขุนแผนซึ่งเป็นเรือนไทยโบราณและตัวต่อยักษ์ไว้กับต้นมะขาม ซึ่งปัจจุบันต้นมะขามยักษ์แห่งนี้ถือเป็นจุดสำคัญของวัดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วยจึงถือว่าต้นไม้มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย
ขณะที่การจัดงานเที่ยวงานวัด @วัดแค แลพญาต่อยักษ์ ก็เป็นหนึ่งในโครงการเที่ยวงานวัด 55 เมืองรอง ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งจังหวัดสุพรรณบุรีก็ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความพร้อมทั้งทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่ง@วัดแค แลพญาต่อยักษ์ จัดขึ้นวันนี้ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งภายในงาน จะได้พบกับตลาดย้อนยุค ชม ชิมอาหารโบราณ ช้อปสินค้าทางวัฒนธรรม และสนุกสนานกับการแสดงลิเก คณะอดิเทพ ฟ้ารุ่ง ยอดรัก รวมถึงรับชมการแสดงรำวงย้อนยุค ฉบับมนต์รักลูกทุ่ง
จึงถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรมนำประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดรายได้สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้ชุมชน และมุ่งหวังให้ชุมชนดำรงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ของชาติให้ต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไป
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี