ผอ.สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเมียนมา เปิดเผยว่า ค่ายรับรองผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาที่อพยพหลบหนีการปราบปรามของทหารเมียนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พร้อมต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับจากบังกลาเทศแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม แต่บรรยากาศที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยังคงเงียบเหงา เว้นแต่จะมีคณะผู้แทนหรือนักข่าวเดินทางมาติดตามสถานการณ์ที่สำนักงาน อย่างไรก็ตาม ทางการเมียนมา รายงานว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ลักลอบเดินทางกลับเมียนมาแล้วหลายสิบคน โดยอยู่รวมอาศัยอยู่กับญาติ หลังผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ที่ค่ายรับรองดังกล่าวแล้ว แต่คณะกรรมาธิการรับผิดชอบผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ ระบุว่า กระบวนการส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเดินทางกลับเมียนมาโดยถูกต้องตามกฎหมายยังไม่ได้เริ่มขึ้น
นอกจากนี้ ชาวโรฮิงญา 9 คน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่เมียนมา นำตัวมาพบผู้สื่อข่าววานนี้ ยังเปิดเผยว่า ไม่เคยเดินทางไปบังกลาเทศ แต่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังถูกจับกุมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ด้วยข้อกล่าวหามาจากบังกลาเทศ และต้องโทษจำคุก 4 ปี ทั้งนี้ ความล่าช้าในการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาได้สร้างความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างเมียนมากับบังกลาเทศ ต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษว่ามีสาเหตุมาจากอีกฝ่าย
อย่างไรก็ดี สหประชาชาติ ระบุว่า สถานการณ์ในรัฐยะไข่ ทางภาคเหนือเมียนมา ยังไม่ปลอดภัยสำหรับการเดินทางกลับของชาวโรฮิงญา ขณะที่ องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุในสัปดาห์นี้ว่า ทหารระดับสูงหลายคนของเมียนมา ควรถูกนำตัวมาพิจารณาคดีในข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ
ทั้งนี้ ความล้มเหลวในการปกป้องชาวมุสลิมโรฮิงญาได้ส่งผลให้รายงานค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำปี 2561 ปรับลดอันดับเมียนมาจากกลุ่ม “เทียร์ 2 วอชลิสต์” มาอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 โดยระบุว่า ความล้มเหลวดังกล่าวส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาเสี่ยงต่อการถูกแสวงผลประโยชน์และเครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์
ทีมต่างประเทศ
CR:gulftoday