การร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)คนที่ 14 ของนาย วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ในงานจิบน้ำชายามบ่าย นาย วิบูลย์ เปิดเผยว่า ตัวเองทำงานในกฟผ.มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2525 รวม 30 กว่าปี ขณะนี้ยอมรับว่าเทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนสังคมไปมาก ระบบไฟฟ้าเองก็ถูกเปลี่ยนเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟที่จะเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด กฟผ.จึงได้เตรียมรับมือโดยคาดการณ์ไปถึงอนาคตตามที่คิดไว้แล้วนำมาเทียบเคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบันว่าจะต้องเตรียมรับมืออย่างไร ทั้งนี้มองว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่จะทำให้ระบบการผลิต การส่งจ่ายไฟฟ้าเปลี่ยนไปมาก กฟผ.จึงต้องไปมีส่วนร่วมและเรียนรู้กระบวนการดังกล่าวเพื่อให้การจ่ายไฟยังคงมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆในอนาคตจะต้องอาศัยหลายหน่วยงานร่วมมือกัน กฟผ.จึงหาพันธมิตรในหลายหน่วยงาน เช่น การทำบันทึกข้อตกลง หรือ เอ็มโอยูร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) โดยได้ตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อหามาตรการสร้างธุรกิจร่วมกัน คาดว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับเชื้อเพลิง น่าจะทราบ รายละเอียดชัดเจนช่วงกลางเดือนกรกฎาคม
นอกจากนั้น กฟผ.ยังอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างองค์กร เนื่องจาก 4-5 ปีนี้จะมีพนักงานเกษียณค่อนข้างมากประมาณ 1,000 กว่าคนต่อปี และยังมีเสียงจากหลายฝ่ายว่ากฟผ.ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงถือเป็นโอกาสดีในการปรับโครงสร้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปรับลดพนักงาน เพราะการที่พนักงานเกษียณร่วม 1,000 กว่าคนต่อปีก็ถือว่ามากแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องไปลดพนักงานอีก สิ่งสำคัญของการปรับโครงสร้างคือต้องคิดว่าจะปรับตัวอย่างไร องค์กรจึงจะพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เป้าประสงค์หลักหลังปรับโครงสร้างคือ การทำให้กฟผ.แข่งขันได้มากขึ้น
ปัจจุบันกฟผ.มีพนักงานอยู่ 21,000 กว่าคน หลังปรับโครงสร้าง 5 ปีคาดว่าจะเหลือพนักงานอยู่ 16,000 กว่าคน ระหว่างปรับโครงสร้างจะต้องประเมินว่าองค์กรขาดพนักงานส่วนใด ต้องเพิ่มจุดไหน แล้วควรปรับทิศทางไปเช่นไร หลังปรับโครงสร้างจึงจะเปิดรับพนักงานอย่างเต็มที่อีกครั้ง ทั้งนี้ระหว่างปรับโครงสร้างยืนยันว่ายังรับพนักงานอยู่ด้วย
ผู้ว่า กฟผ. ย้ำว่าภารกิจสำคัญของกฟผ.คือ การผลิตไฟฟ้าให้ได้ตามแผนการผลิต นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการรับฟังผลกระทบของชุมชนจากการสร้างโรงไฟฟ้า และมาตรการรองรับความเปลี่ยนแปลงทางไฟฟ้าจากเทคโนโลยีในอนาคต ยืนยันว่าที่ผ่านมา กฟผ.ให้ความสำคัญกับชุมชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าที่ต้องฟังเสียงและให้ข้อมูลควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ว่าการสร้างโรงไฟฟ้าจะช่วยสร้างประโยชน์ใดได้บ้าง แต่ก็ยอมรับว่าคงไม่มีใครเห็นด้วยเต็มร้อย ซึ่งต้องค่อยพัฒนาและทำความเข้าใจกันต่อไป