กรมศุลกากร-กรมโรงงานอุตสาหกรรม สกัดการนำเข้าเศษพลาสติก-โลหะกว่า100ตู้

26 มิถุนายน 2561, 20:20น.


การผลักดันตู้สินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และเศษโลหะ นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า หลังการประชุมหารือระหว่างกรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถึงสถานการณ์การนำเข้า-ส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสกัดกั้นป้องกัน และปราบปราม สินค้าลักลอบ หลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด จึงได้มีการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ ขณะนี้สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้มีการอายัดสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 4ตู้ ต้นทางจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผู้ประกอบการไม่มาดำเนินการผ่านพิธีการทางศุลกากรภายในระยะเวลาที่กำหนด



ส่วนการนำเข้าเศษพลาสติก พบจำนวน 428ตู้ จากประเทศต้นทางต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน ซึ่งมาถึงท่าเรือเกินกำหนดระยะเวลา 30วัน กลุ่มแรกจำนวน 47 ตู้อยู่ระหว่างรอให้มาผ่านพิธีการศุลกากร กลุ่มที่สองจำนวน 42 ตู้ ได้แจ้งตัวแทนเรือ แล้วไม่มาดำเนินการผ่านพิธีการ ตอนนี้อยู่ระหว่างการเปิดตู้ร่วมกัน 3ฝ่าย คือ กรมศุลกากร การท่าเรือกรุงเทพ และตัวแทนเรือส่วนกลุ่มที่สามอีกจำนวน 339ตู้  สินค้าอยู่ในเขตทำเนียบท่าเรือ ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลา 30วัน ที่ผู้รับของตามบัญชีสินค้า จะต้องดำเนินการผ่านพิธีการทางศุลกากร ซึ่งจำนวนทั้งหมด 339 ตู้นี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีใบอนุญาตในการนำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมการค้าต่างประเทศ





สำหรับการนำสินค้าประเภทเศษโลหะ ที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตขณะนำเข้า แต่เจ้าหน้าที่พบข้อสงสัยจึงได้ดำเนินการอายัดสินค้า รวมทั้งสิ้นจำนวน 40 ตู้ จำนวน 11 ตู้แรกได้เปิดตู้ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมตอนนี้อยู่ในระหว่างการรอผลการตรวจสอบ และอีกจำนวน 29 ตู้ อยู่ระหว่างการอายัด และรอการตรวจสอบสินค้าร่วมกับกรมโรงงานอุตสากรรม ซึ่งการดำเนินการในกรณีของสินค้าประเภทเศษอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และเศษโลหะ ที่ไม่ตรงตามใบอนุญาต เงื่อนไข หรือไม่มีใบอนุญาต ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น กรมศุลกากรร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะผลักดันกลับประเทศต้นทาง



ด้านนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีการชะลอพิจารณานำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก โดยช่วงนี้จะยังไม่มีการพิจารณาใบอนุญาตเพิ่มเติม ขณะเดียวกันมีการตั้งคณะกรรมการบูรณาการร่วม เพื่อการตรวจสอบกระบวนการ รวมถึงว่าในอนาคตควรจะยกเลิกอนุสัญญาบาเซลหรือไม่ ด้วยการยื่นตามมาตรา 32(2) ซึ่งจะเป็นการยุติการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ทั้งหมด แต่ก็ต้องประชุมหารือกันอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะบางอย่างยังมีความจำเป็นในการนำมารีไซเคิลได้





ส่วนการเปิดตู้บางส่วนในวันนี้3ตู้ จากจำนวนกว่า100ตู้ที่ตกค้าง พบว่าลักษณะเป็นอุปกรณ์ทางไฟฟ้า ที่ไม่มีทองแดง แต่มีน้ำมันอยู่ภายใน ที่ตกค้างอยู่ท่าเรือเกิน 30วัน ซึ่งมีทั้งของบริษัทที่กระทำผิดไปก่อนหน้านี้ และบริษัทอื่น ขณะนี้อยู่ระหว่างตามตัวบริษัทเจ้าของตู้ หากไม่มาผ่านพิธีการศุลกากรให้ถูกต้อง จะทำการผลักดันกลับประเทศต้นทาง โดยบริษัทผู้ขนส่งเป็นฝ่ายรับผิดชอบ แต่ตอนนี้บางตัวอย่างสินค้าจะถูกกรมโรงงานอุตสาหกรรม เก็บไว้ตรวจสอบอย่างละเอียด คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1เดือน จึงจะรู้ผลของสินค้าดังกล่าว ก่อนดำเนินการต่อไป



 



วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์ ผู้สื่อข่าว 

ข่าวทั้งหมด

X