*เตรียมตั้งศาลอุทธรณ์คดียาเสพติด ลดคดีค้างศาลฎีกา *

13 กันยายน 2557, 18:03น.


การเสวนากฎหมายระหว่างข้าราชการศาลยุติธรรมและสื่อมวลชน  นาย บวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกาและโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคดีคงค้างไม่มาก เนื่องจากมีหลายศาลคอยตัดสิน จึงทำให้การสอบสวนคดีเสร็จเร็ว แต่คดีมักไปค้างที่ศาลฎีกา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณากว่า 20,000 คดี และคดีส่วนใหญ่ร้อยละ 60-70จะเป็นคดียาเสพติด



ศาลจึงมีแนวคิดร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ปปส. จัดตั้งคณะกรรมการศาลยุติธรรม ที่จะแยกคดียาเสพติดมาพิจารณาโดยตรง เพื่อลดหน้าที่ของศาลฎีกา โดยมีแนวคิดจะจัดตั้งเป็นศาลอุทธรณ์ แผนกคดียาเสพติด เพื่อคอยพิจารณา หากคดีสามารถตัดสินได้ ก็จะไม่ต้องส่งคดีต่อไปยังศาลฎีกา แต่ทั้งนี้โจทก์และจำเลยยังมีสิทธิ์ยื่นฎีกา แต่ศาลมีแนวคิดที่จะให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาอ่านสำนวนคดีก่อนว่าคดีดังกล่าวสมควรจะฎีกาหรือไม่ ซึ่งจะพิจารณาจากสำนวน คำร้องและสาระสำคัญของคดีเป็นหลัก



นาย บวรศักดิ์ เชื่อว่า การแยกแผนกคดียาเสพติดออกมา จะช่วยลดหน้าที่ของศาลฎีกา และทำให้คดีที่คงค้างลดไปมาก ซึ่งปัจจุบันยังต้องรอการพิจารณาร่างอุทธรณ์และฎีกา ซึ่งต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ เพราะการแยกศาลจะส่งผลถึงวิธีพิจารณาความ และหากได้ข้อตกลงแล้วจะส่งเรื่องต่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณาต่อไป



 ทั้งนี้ นาย บวรศักดิ์ ระบุว่า ไม่เพียงคดียาเสพติดเท่านั้น คดีอื่นๆที่ไม่มีสาระสำคัญ ผู้พิพากษาศาลฎีกาก็มีสิทธิ์ปฎิเสธการพิจารณาคดีได้ และในอนาคตต้องการให้คดีในชั้นศาลฎีกาพิจารณาเสร็จไม่เกิน 1 ปีต่อคดี เช่นเดียวกับศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ซึ่งคดีหนึ่งก็จะมีเวลาพิจารณาในศาลไม่เกิน 3 ปี แต่ทั้งนี้ต้องดูปัจจัยต่างๆประกอบด้วย เช่น พยานปาก หรือหลักฐานสำนวนในคดีนั้น



 



ธีรวัฒน์ -ภาพ-ข่าว

ข่าวทั้งหมด

X