การสัมมนาในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญปราบโกง จะสัมฤทธิ์ผลได้จริงหรือไม่" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ตั้งชื่อว่า "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" ถือเป็นการตลาดที่ดีมากที่ผู้ตั้งชื่อนำค่านิยมของสังคมมาเล่นเป็นกระแส ซึ่งในช่วงที่มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในส่วนตัวลงมติไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่าอาจปราบโกงไม่ได้จริง แม้จะมีจุดดี เช่น การจัดตั้งศาลทุจริต แต่ก็พบว่ารัฐธรรมนูญ มีจุดที่น่าเป็นห่วง 2-3จุดใหญ่ เช่น การนำกระบวนการถอดถอนออกไป, การบัญญัติให้ดำเนินการตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้ยากขึ้น ทั้งยังเพิ่มอำนาจให้ป.ป.ช.มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมองว่ากระบวนการทางกฎหมายในช่วงต้นน้ำก็ควรได้รับการปฏิรูป เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ว่าคดีของผู้มีอำนาจหลายคดีมักสะดุดที่กระบวนการยุติธรรมในช่วงต้นน้ำ นายอภิสิทธิ์ ยังพูดติดตลกว่า ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่มีการปราบโกงจากรัฐบาล เพราะทุกรัฐบาลมุ่งจะปราบโกงผู้ที่อยู่ตรงข้ามตัวเองอยู่เสมอ
ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. เปิดเผยว่า ป.ป.ช.ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำร่างหลักสูตรป้องกันการทุจริตเพื่อบรรจุในการเรียนการสอนกว่า 6 หลักสูตร คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบแล้ว ส่วนการทำงานของป.ป.ช.ขณะนี้มีเรื่องกล่าวหาคงค้างอยู่กว่า 17,000 เรื่อง และเรื่องไต่สวนอีก 2,000 กว่าเรื่อง คงต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี เชื่อว่า หลังกฎหมายใหม่ของป.ป.ช.ออกมา จะช่วยยกระดับการทำงานของป.ป.ช.ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น โดยกฎหมายใหม่กำหนดให้กรอบเวลาการทำงานแต่ละคดีมีเวลาไม่เกิน 3 ปี เชื่อว่าจะทำให้ทำงานได้เร็วขึ้นปีละหลายพันคดี
ส่วนนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดทุจริตได้ง่าย พร้อมยกคำพูดของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่พูดว่าลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ เช่นนี้แล้วจะปราบโกงได้เช่นไร มองว่าอนาคตการปราบโกงที่แท้จริงทำได้ยาก เพราะจะมีคนของรัฐบาลชุดนี้เข้ามาจัดการในแทบทุกเรื่อง ส่วนตัวยังเห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ ตามที่ระบุว่ารัฐธรรมนูญ อาจปราบโกงไม่ได้จริง เพราะมีการยกเลิกกระบวนการถอดถอนออกไป ทั้งยังเพิ่มอำนาจให้ป.ป.ช.ในการตรวจสอบชี้มูลได้มากขึ้น
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร