*สนช.ถกอำนาจ ถอดถอนนักการเมือง *

11 กันยายน 2557, 12:18น.


การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม สนช. สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เช่น เรื่องการสิ้นสมาชิกภาพของ สนช. และ ข้อบังคับว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช.ได้ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับ ร่างข้อบังคับการประชุม เรื่อง การจัดตั้งคณะกรรมมาธิการสามัญกิจการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. ที่ระบุให้ ประธานและรองประธานต้องเป็นสมาชิกของคณะกรรมมาธิการดังกล่าว พร้อมให้เหตุผลว่า ภารกิจของประธาน สนช.มีหลายอย่าง จึงเสนอให้แบ่งภาระงานให้กับ รองประธานทั้งสองคนช่วยรับผิดชอบ รวมถึง เรื่องการสิ้นสุดการเป็นสมาชิกของ สนช. ซึ่งจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ว่า การสิ้นสมาชิกต้องใช้มาตรการอะไรเป็นตัวชี้วัด และข้อบังคับว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ก็เห็นว่าเห็นควรชี้แจงให้มีการพิจารณาที่ชัดเจน



ส่วนนายตวง อันทะไชย สมาชิกสนช.ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ  ได้ตอบข้อซักถามของสมาชิกถึงเนื้อหาในร่างข้อบังคับการประชุมฯ เกี่ยวกับการอำนาจหน้าที่ของสนช. และการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าเป็นไปตามกฎหมายและบทบัญญัติมาตรา 6(2) ประกอบมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เนื่องจากสนช.ทำหน้าที่แทนสมาชิกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร จึงมีอำนาจในการถอดถอนได้ ส่วนอำนาจที่ว่าจะถอดถอนบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นอีกกรณีหนึ่งที่จะต้องพิจารณา



สอดคล้องกับนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์  ที่มองว่า นอกจากสมาชิก สนช.จะมีอำนาจตามข้อบังคับในหมวดของการถอดถอน และการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งโดยอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา6(2) แล้ว กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา13(2)ยังให้สิทธิ์สมาชิกพิจารณารายงานการประชุมต่างๆ รวมถึงให้ความเห็นชอบให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง



ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นด้วยกับร่างข้อบังคับการประชุมฯ และคณะกรรมาธิการฯ ที่ได้บัญญัติถึงการถอนถอดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่ามีการแบ่งข้อบังคับไว้อย่างชัดเจน รอบคอบ รัดกุม ทั้งนี้มองว่าหากจะดำเนินการถอนถอดบุคคลใดก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยที่ประชุมสนช. เป็นกรณีๆ ไป

ข่าวทั้งหมด

X