กรณีที่ประชุมการหารือแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพ ที่มีมติคืนพื้นที่บ้านพักตุลาการดอยสุเทพ ให้กรมธนารักษ์ไปดูแลฟื้นฟูป่า นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่าคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ. มีมติทำหนังสือถึงรัฐบาลแล้วว่าไม่ขัดข้อง ซึ่งตามขั้นตอนการทำงาน ที่ประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมจะมีหนังสือตอบกลับมาที่สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อเสนอก.บ.ศ.พิจารณาต่อไป
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่าเนื่องจากพื้นที่ของโครงการเป็นป่าเต็งรัง ต้นไม้ที่เตรียมไว้ปลูกเพื่อฟื้นฟูจึงเป็นไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้ประดู่ รวมถึงหญ้าแฝก พืชคลุมดิน และเตรียมสร้างฝายชะลอน้ำขนาดเล็ก 110 ฝาย โดยจะเริ่มปลูกพร้อมกันในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้
ส่วนกรณีของการบุกรุกพื้นที่ป่ากว่า 6,000 ไร่ จังหวัดเลย เมื่อวานนี้ ที่กองบังคับการปราบปรามการ กระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ร่วมสอบปากคำ นางพิไลจิตร เริงพิทยา อายุ 68 ปี นางนิจพร จรณะจิตต์ อายุ 67 ปี และนางเอมอร เทิดประวัติ อายุ 65 ปี กรรมการบริษัท ซีพีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต้องหาคดีบุกรุกป่า พื้นที่ อ.ภูเรือ และ อ.ด่านซ้าย จ.เลย หลังเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน บก.ปทส.ในช่วงเช้า คดีนี้นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพื้นที่รับผิดชอบให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด 6 คดี เกี่ยวกับการยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดิน โดยไม่ได้รับอนุญาตฯ มูลค่าความเสียหาย 680 ล้านบาท ซึ่งพล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเอาผิดตามหลักฐานนิติบุคคลกับผู้ที่อำนาจลงนาม 3 คน ที่บุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งยอมรับว่าเป็นผู้ลงนามจริงและครอบครองพื้นที่ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์จริง โดยเป็นที่ดินที่ได้มาจากบิดา เมื่อแจ้งข้อหาเสร็จเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวไป
ส่วนคดีครอบครองงาช้างแอฟริกาผู้ต้องหาทั้ง 3 คนคือ นางคณิตดา กรรณสูต อายุ 64 ปี นายเปรมชัย กรรณสูต อายุ 64 ปี และน.ส.วันดี สมภูมิ อายุ 71 ปี ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 25 มิถุนายน ส่วนกรณีที่นายเปรมชัยขอเดินทางไปอินเดียเพื่อประชุมทางธุรกิจระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ศาลรับคำร้องไว้พิจารณา
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขตพื้นที่ภาค 5 อ.เมืองเชียงใหม่ พันโท กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. เปิดเผยความคืบหน้าคดีทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศว่า ป.ป.ท.มีคำสั่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งรวม 50 ศูนย์ จาก 67 ศูนย์ทั่วประเทศ เบื้องต้นเร่งรัดให้ไต่สวนใน 28 ศูนย์ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน เป็นลำดับแรกก่อน โดยในการส่งเรื่องให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องการทุจริต 217 ราย กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ ป.ป.ท.ภาค 5 จำนวน 20 ราย และพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องการทุจริตทั่วประเทศเพิ่มอีกเป็น 250 ราย ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง หรือผู้บริหารระดับกรม ร่วมการทุจริตด้วย
ส่วนการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง การทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการสืบสวนได้สรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว พบผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหาย เฉพาะที่มีเอกสารหลักฐานยืนยัน และมีมูลกระทำความผิด ฐานทำให้ราชการเสียหาย รวม 24 คน รวมนางรจนา สินที อดีตข้าราชการระดับ 8 ที่ถูกไล่ออกจากราชการด้วย เป็น 25 คน ทั้งหมดเป็นข้าราชการระดับ 8 หรือชำนาญการพิเศษขึ้นไป บางคนเกษียณอายุราชการ และบางคนเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนระดับปฏิบัติการหรือเจ้าหน้าที่ทางคณะกรรมการสืบสวนพิจารณาแล้วว่า ดำเนินการโดยใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ในจำนวนนี้ มี 21 ราย มีความผิดฐานประมาทเลินเล่อ และมีจำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 8-11 ที่เชื่อได้ว่ามีส่วนร่วมกับการทุจริตกับนางรจนา และได้สรุปผลการสืบข้อเท็จจริงผ่านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาแล้ว
ปิดท้ายที่กระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า จากโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐยื่นความจำนงฝึกอาชีพในหลักสูตรต่างๆ กว่า 338,000 คน ซึ่ง จ.สุรินทร์ จ.อุบลราชธานี และ จ.เชียงราย มีผู้ยื่นความจำนงเป็นอันดับต้นๆ กพร.จึงวางแผนฝึกอาชีพ 2 กิจกรรม ได้แก่ ช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) และฝึกอาชีพเสริม (อาชีพอิสระ) ซึ่งกิจกรรมแรกจะมอบเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกด้วย นอกจากนี้สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) อาทิ สนพ.นนทบุรี สนพ.พระนครศรีอยุธยา สนพ.สุรินทร์ สนพ.นราธิวาส ฯลฯ ร่วมกับหัวหน้าส่วนแรงงานจังหวัดในการเตรียมความพร้อมที่จะฝึกอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมทั้งด้านของวิทยากร สถานที่ คู่มือปฏิบัติงาน การจัดกลุ่มหลักสูตร กลุ่มเป้าหมายการฝึก การกำหนดสถานที่ฝึก มีคณะทำงานพัฒนาทักษะอาชีพระดับอำเภอ และทีมเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เสนอแนะแผนที่ชีวิต ลงพื้นที่ประสานหน่วยงานในชุมชนเพื่อพบกลุ่มเป้าหมาย ประกบผู้มีรายได้น้อยทุกราย นัดหมายการเข้ารับการฝึกตามกำหนด ทั้งนี้ ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลระบบตู้งาน ของกรมการจัดหางาน (กกจ.) เน้นมีงานทำ มีรายได้พ้นขีดความยากจน ซึ่งจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2561
...