ธีระชัย ชี้ ธปท.ขาดทุนเพราะทุนสำรองดอลล่าร์มีมาก เงินบาทแข็งค่า

07 พฤษภาคม 2561, 15:26น.


นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ผ่าน JS100 Radio ชี้แจงกรณีโลกโซเชียลเผยแพร่ ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติการขาดทุน จำนวน 9 แสนล้านบาทว่า เป็นแค่การขาดทุนทางตัวเลขบัญชี และเกิดจากการมีทุนสำรองดอลล่าร์มีมาก ไม่เหมือนกับที่เกิดในช่วงก่อนต้มยำกุ้ง แต่ปัญหาขาดทุนของแบงค์ชาติขณะนี้  มาจากประเทศไทยมีสำรองมาก ร่วมสองแสนล้านดอลล่าร์ และเป็นอันดับต้นๆ ของโลก  เมื่อมีสำรองสองแสนล้านดอลลาร์ ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเทียบกับดอลล่าร์ 1 บาท แบงค์ชาติก็จะมีขาดทุนทางบัญชี 200,000 ล้านบาท แต่ในทางกลับกัน ค่าเงินบาทอ่อนลงเทียบกับดอลล่าร์ 1 บาท แบงค์ชาติก็จะกลับมีกำไรทางบัญชี 200,000 ล้านบาท ถ้าคิดว่า กำไรหรือขาดทุนทางบัญชีของแบงค์ชาติไทยเป็นปัญหาใหญ่โตแล้ว ลองเทียบกับประเทศจีนซึ่งมีทุนสำรองหลายล้านล้านดอลล่าร์ ผลกำไรและขาดทุนก็จะเป็นตัวเลขใหญ่โตมหาศาลกว่านี้มากมาย

ส่วนเงินสำรองที่มีมากเพราะแบงค์ชาติพยายามกดค่าเงินบาท คือเมื่อมีดอลลาร์ไหลเข้า อันจะทำให้เงินบาทแข็งขึ้น แทนที่แบงค์ชาติจะปล่อยให้เอกชนเป็นคนซื้อดอลลาร์เหล่านี้ แบงค์ชาติก็เข้าไปรับซื้อดอลล่าร์เอง เมื่อแบงค์ชาติรับซื้อดอลล่าร์แล้ว ดอลลาร์ก็จะเข้ามาเป็นทุนสำรองที่แบงค์ชาติ ดังนั้น ยิ่งมีมาตรการกดเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเท่าไหร่ แบงค์ชาติก็ยิ่งต้องเข้าไปซื้อดอลล่าร์มากเท่านั้น และยิ่งทำให้สำรองเพิ่มขึ้น การมีสำรองมากนั้น นอกจากแบงค์ชาติจะมีกำไรหรือขาดทุนทางบัญชี จากการที่เงินบาทแข็งขึ้น หรืออ่อนลง เทียบกับดอลลาร์แล้ว แบงค์ชาติยังจะมีขาดทุนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย 



ส่วนแบงค์ชาติควรเลิกพยายามกดค่าเงินบาทหรือไม่นั้น เห็นว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวโดยเสรีเต็มที่ เนื่องจากเมื่อค่าเงินบาทแข็งตัว การที่จะส่งออกได้ดีนั้น ผู้ผลิตสินค้าของไทยจะต้องสามารถทำให้มูลค่าเพิ่มในสินค้าสูงขึ้น เท่ากับค่าเงินบาทที่แข็งตัว เช่น ออกแบบสินค้าให้สวยหรูขึ้น เพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปในตัวสินค้ามากขึ้น ทำสินค้าเกษตรให้เป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นต้น แต่การปรับตัวของผู้ผลิตในไทยนั้น จะต้องให้เวลา เพราะจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไ



ส่วนการแก้ไขขาดทุนครั้งนี้ นายธีรชัย มองว่า ปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัว เริ่มแรงขึ้นนับแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ แต่ในขณะนี้ สถานการณ์กำลังกลับทางแล้ว โดยธนาคารกลางของประเทศสหรัฐได้เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้วระยะหนึ่ง และจะขึ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ เมื่อส่วนต่างดอกเบี้ยของสหรัฐสูงขึ้น ในขณะที่ดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ก็จะทำให้เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งขึ้นมาตลอด จะค่อยเปลี่ยนกลับเป็นอ่อน  ดังนั้น เมื่อการลงทุนภาคเอกชนเกิดขึ้นน้อยมาก ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอกชนได้ และมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจัง ก็จะมีการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ และจะลดการเกินดุลการค้าของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้แรงกดดันให้เงินบาทแข็งขึ้นนั้นหมดไปด้วย แล้วเมื่อใดที่เงินบาทกลับอ่อน ตัวสำรองที่ตีราคาเป็นเงินบาท ก็จะกลับมาเป็นกำไรในอนาคต

ข่าวทั้งหมด

X