วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2561 เวลา 14.00 น. พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 1/2561 พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. กรมศุลกากร กรมสรรพากร และสำนักงบประมาณ รวม 60 คน โดยมีนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้เสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ทราบ ดังนี้ สรุปสถานการณ์ปัญหายาเสพติดห้วง 6 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2561 แผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วน ปี 2561 ผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปีงบประมาณ 2561 การดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณากรอบแผนแม่บทด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และพิจารณากรอบแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2562-2565) ดังนี้ กรอบแผนแม่บทด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง มีสาระสำคัญ ดังนี้ การตรวจสอบสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ระดับโลก ภูมิภาค รวมถึงสถานการณ์ยาเสพติด การใช้กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล กำหนดกรอบแนวคิดตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นกรอบการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อเสริมการป้องกันควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีเป้าหมายการพัฒนา ดังนี้ 1) ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อการควบคุมแหล่งผลิตภายนอกประเทศ การสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าสู่แหล่งผลิตยาเสพติด การบริหารจัดการชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการพัฒนาทางเลือก 2) การดำเนินการกับผู้กระทำความผิด และอาชญากรรมข้ามชาติ ลดผลกระทบของปัญหายาเสพติดต่อสังคม หมู่บ้าน/ชุมชน 3) การบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดมีมาตรฐานเพียงพอ ลดอัตราการกลับไปเสพซ้ำ 4) สร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้คนทุกช่วงวัย นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการนำแนวพระราชดำริ ปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียง 5) บูรณาการและบริหารจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้ประเทศไทยมั่นคง ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม และความร่วมมือระหว่างประเทศ
กรอบแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2562-2565) ภายใต้ชื่อ แผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ ระหว่างกัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม พ.ศ.2562 - พ.ศ.2565” โดยมีกรอบความคิดทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การผนึกกำลังของทั้ง 6 ประเทศเพื่อสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้า-ออกในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยแต่ละประเทศใช้กำลังของตนเองให้เกิดการประสานสอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการลดศักยภาพการผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำลง การบูรณาการการสืบสวนปราบปรามผู้ผลิต ผู้ค้ารายสำคัญ การสกัดกั้นการลำเลียงผ่านแม่น้ำโขง การพัฒนาศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยในทุกประเทศ ให้มีความพร้อมในด้านสถานที่ บุคลากร ระบบเชื่อมโยงข้อมูล 6 ประเทศ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันมาตรการต่างๆ ให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
CR:ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ป.ป.ส.