*อุตุนิยมวิทยาโลก ชี้ อากาศโลก เข้าขั้นแปรปรวน สุดขั้ว *

09 กันยายน 2557, 21:33น.


นายมิเชล จาร์โรด เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก(ดับเบิลยูเอ็มโอ)กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์หรือ CO2 ก๊าซหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ระดับความเข้มเข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มสู่ระดับใหม่เมื่อปี 2556 โดยอยู่ที่ระดับ 396 ส่วนในล้านส่วน หรือเพิ่มขึ้นจากระดับในช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม(ก่อนปี 2293) ถึงร้อยละ 142 ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า เมื่อปีก่อน ก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ถึง 2.9 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี



ในขณะเดียวกัน มหาสมุทร ซึ่งช่วยดูดซับก๊าซดังกล่าว มีสภาพเป็นกรดมากกว่าเดิม เขากล่าวว่า ภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่แปรปรวนสุดขั้วมากขึ้นส่วนใหญ่เนื่องจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาเชื้อเพลิงเพื่อนำพลังงานมาใช้ ระบุว่าเราเหลือเวลาอยู่ไม่มากนักในการเปลี่ยนแปลงทิศทางของสภาพอากาศของโลก โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซ CO2 และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ รวมถึง มีเทน และไนตรัสออกไซด์



นายจาร์โรด กล่าวว่าก๊าซ CO2 จะยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศหลายร้อยปี แต่จะถูกดูดซับและตกค้างอยู่ในมหาสมุทรยาวนานกว่า และจะส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่านั้นอีก เนื่องจากก๊าซ CO2 ในน้ำจะทำให้น้ำทะเลมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น จะมีผลเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวิทยาของมหาสมุทรในระยะยาว  ด้านบรรดาผู้นำการเมืองของโลกจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในนครนิวยอร์คของสหรัฐในวันที่ 23 เดือนนี้ ตามคำเชิญของนายบันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ ที่ประชุมจะพิจารณาเรื่องการทำข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกฉบับใหม่ให้เสร็จภายในปลายปี 2558/18.00 น.

ข่าวทั้งหมด

X