นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจไทยมีนาคม 2561 และไตรมาสแรกปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา มีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในทุกหมวดสินค้า และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคเอกชนขยายตัวในทุกหมวดการใช้จ่ายสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวตามการผลิตเพื่อส่งออกและเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศ โดยเบื้องต้น ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสแรกของปีนี้ จะเติบโตใกล้เคียงไตรมาส 4 ปี 2560 ที่ร้อยละ 4 และ ธปท.จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้ โดยการส่งออกมีนาคม มีมูลค่า 22,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.3 รวมไตรมาสแรกมีมูลค่า 61,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละร้อยละ 9.9 การนำเข้ามีนาคมมีมูลค่า 19,042 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.7 รวมไตรมาสแรกมีมูลค่า 55,153 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.3 ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเกินดุล 3,015 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไตรมาสแรกเกินดุล 6,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีดุลบัญชีเดินสะพัดมีนาคมเกินดุล 5,751 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมไตรมาสแรกเกินดุล 17,119 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนการค้าข้าว นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะปล่อยสินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตร ที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ 10,000 ราย วงเงินกู้ กรณีเกษตรกรรายคนไม่เกิน 150,000 บาท กรณีสถาบันเกษตรกรไม่เกินแห่งละ 3 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ จะต้องเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปีทุกปี จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น
ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีราคาถึงตันละ 15,300-17,400 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากช่วงก่อนมีโครงการที่มีราคาตันละ 11,500-14,500 บาท
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. พันโท กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวถึงการตรวจสอบการงบประมาณ 2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน ตรวจครบเสร็จสิ้นแล้วทั้ง 76 ศูนย์ใน 76 จังหวัด พบพฤติการณ์ทุจริตของเจ้าหน้าที่รวม 67 ศูนย์ และมี 9 จังหวัดที่ไม่พบการทุจริตคือ สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครศรีธรรมราช นนทบุรี แพร่ นครสวรรค์ สุโขทัย และ อุตรดิตถ์
โดยในกลุ่ม 67 ศูนย์ มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนไปแล้ว 43 จังหวัด โดยในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ จะส่งรายชื่อให้บอร์ดป.ป.ท. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯที่เหลือทั้งหมด โดยรายชื่อของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ป.ป.ท.ส่งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีจำนวน 156 คน มีการตรวจสอบพบเพิ่มและส่งให้พิจารณาโทษอีก 33 คน รวม 189 คน
ส่วนการควบคุมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า เดิมการจดแจ้งเครื่องสำอาง ผู้ประกอบการจะต้องยื่นรายละเอียดสูตร ส่วนประกอบ และสถานที่ผลิต ในขั้นตอนที่เพิ่มเข้ามาก็คือจะต้องมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสถานที่ผลิตก่อนว่าเป็นไปตามมาตรฐาน จึงจะออกใบอนุญาตให้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้
กรณีที่พบว่ามีการปลอมเลข อย.ทั้งการสวมอย.สินค้า และการกำหนดขึ้นมาเอง ได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้การปลอมแปลงทำได้ยากมากขึ้น
เรื่องการรีวิวสินค้า เตือนว่า หากศิลปินดาราหรือใครก็ตามรีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วต่อมามีผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์นั้นแล้วเสียชีวิต จะต้องรับโทษสูงสุด ไม่ใช่แค่ปรับ แต่จะต้องถูกจำคุกด้วย ดังนั้นก่อนรับรีวิวจะต้องตรวจสอบสินค้าก่อน เพราะการรีวิวถือเป็นการโฆษณา โดยจะทำหนังสือถึงต้นสังกัดศิลปินดาราอีกครั้งเพื่อให้ตรวจสอบก่อนรับรีวิว หลังจากเคยส่งไปแต่ไม่ได้รับความสนใจ
ที่กองปราบปราม มีการจับกุมนางเรวดี หาแก้ว หรือ ติ้น อายุ 53 ปี และนางวิไลพร รัตนติสร้อย หรือ เล็ก อายุ 59 ปี ซึ่งแจ้งความเท็จว่าถูกรางวัลสลากกินแบ่งมูลค่า 30 ล้านบาท 2 ปีซ้อน และทำให้มีผู้เสียหายที่ถูกจำคุกฐานยักยอกสลากด้วย โดยการสอบสวนเบื้องต้นทั้ง 2 คนยืนยันว่าถูกรางวัลจริง
ด้านนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ทนายความ นำตัวผู้เสียหาย 2 คนเข้าชี้ตัวผู้ต้องหา พร้อมนำช่อดอกไม้มามอบให้ตำรวจชุดจับกุม เพื่อแสดงความขอบคุณด้วย
ปิดท้ายที่คดีนายเปรมชัย กรรณสูต และพวกเข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรีนางสมศรี วัฒนไพศาล อธิบดีอัยการภาค 7 มีความเห็นสั่งฟ้องนายเปรมชัย 6 ข้อหา สั่งไม่ฟ้อง 5 ข้อหา โดย 6 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันมีไว้ครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันซ่อนเร้นช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้ซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำผิดกฎหมาย และร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต
กรณีตำรวจเห็นแย้งให้เพิ่มอีก 3 ข้อหา อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง คือ ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันมีเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์ และร่วมกันพยายามล่าสัตว์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต (กระรอก) ซึ่งทางอัยการภาค 7 เห็นว่า เป็นโทษทางปกครอง ส่วนโทษทางอาญาไม่มีกฎหมายบัญญัติ
สำหรับค่าเสียหายทางคดีอาญา อัยการสูงสุดเห็นควรเพิ่มค่าเสียหายเป็น 3,012,000 บาท จากเดิมที่อัยการภาค 7 ให้ร่วมกันชดใช้ จำนวน 462,000 บาท
…