สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิ่มการควบคุมมาตรฐาน การตรวจผลิตภัณฑ์ และโรงงาน หลังก่อนหน้านี้มีการจับผลิตภัณฑ์ เมจิกสกิน และลีน เป็นจำนวนมาก พร้อมขอความร่วมมือประชาชนแจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย เช่น การสวมเลขทะเบียน อย. นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการสุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์และเฝ้าระวังเชิงรุกสำหรับการโฆษณาในโซเชียลมาโดยตลอด จนตรวจพบความผิดปกติเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เมจิกสกิน เมื่อเดือนมกราคมจนนำไปสู่การบุกจับ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ซึ่งบริษัทก็ให้การรับสารภาพว่าไม่ได้ผลิตตามที่จดแจ้ง อย. จนมีคำสั่งเพิกถอนใบรับแจ้งและเรียกคืนเครื่องสำอางรวม 266รายการ สำหรับขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ส่วนกรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “Lyn ลีน” ที่ได้เข้าติดตามและตรวจสอบ พร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากสถานที่จำหน่าย ส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่6 ชลบุรี โดยผลิตภัณฑ์แรกคือ “Lyn FS-Three” ลักษณะเป็นแคปซูลสีเขียวในแผง ผลการตรวจพบยาแผนปัจจุบันบิซาโคดิล (Bisacodyl) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย และอีกผลิตภัณฑ์ คือ “ลีน บล้อค เบิร์น เบรก บิวท์” (Lyn Block Burn Break Build) ลักษณะแคปซูลสีขาวในแผง ผลการตรวจสอบพบ ไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อการทำงานของสมองทำให้อยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น รองเลขาธิการฯ อย.ย้ำว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างว่าลดความอ้วน มักลักลอบใส่สารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารอันตรายและมีผลข้างเคียงร้ายแรง สำหรับ อย. ได้ออกประกาศ เรื่องการประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหาร ทั้ง 2รายการนี้เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และน่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรืออนามัยของประชาชน ผู้ใดผลิต จำหน่าย มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 โทษจำคุกไม่เกิน 2ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000บาท หรือทั้งจำและปรับ
หลังจากนี้ อย. จะมีการเพิ่มมาตรการการจัดการ คือ ด้านระบบ e-Submission จากเดิมที่สามารถยื่นเอกสารขอจดแจ้งเข้ามาตามกำหนด จะได้รับการอนุญาตอัตโนมัติเลย ปรับให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อน จะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3วัน สำหรับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เป็นต้นไปจะมีการออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดมาตรฐานโรงงานที่ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ โดยในอนาคตอาจจะกำหนดให้ผลิตภายในโรงงานที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานเท่านั้น คาดว่าจะช่วยลดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานตามท้องตลาดอีกเป็นจำนวนมาก และสุดท้ายคือมาตรการตรวจสอบหลังอนุญาตวางจำหน่ายเรียบร้อย เพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายตรงตามที่จดแจ้งไว้ ซึ่งขณะนี้มีการติดต่อ กสทช. เพื่อตรวจสอบการโฆษณาที่ไม่เหมาะสม โฆษณาสรรพคุณเกินจริง หรือสุ่มเสี่ยงต่อการหลอกลวง ให้ดำเนินการระงับได้ทันที รวมทั้งประสานกับสภาอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาช่วยดำเนินการให้ตรา อย. ทำการปลอมแปลงได้ยากที่สุด
นอกจากนี้ ฝากเตือนประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากผู้บริโภคต้องการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และการควบคุมอาหาร รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการครบ 5หมู่ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หากต้องการลดความอ้วนต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น หากผู้ใดพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิตและจำหน่ายยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Ortor Smart Application ผ่านWebsite Oryor.com หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป
ผู้สื่อข่าว:วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์