รฟม.รับข้อเสนอเรื่องจราจร-สิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู

28 เมษายน 2561, 13:36น.


การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในงานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 ส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี(สถานีศรีรัช-เมืองทองธานี) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) นายปิยชัย ทองบุตร ข้าราชการบำนาญ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ระบุว่า เห็นด้วยและอยากให้มีการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูนี้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดอยู่มากในขณะนี้ได้ แต่ก็มีความเป็นห่วงเรื่องการจราจรขณะที่มีการก่อสร้างว่าอาจจะทำให้การจราจรในพื้นที่ติดขัดหนักกว่าเดิม เชื่อว่าในระยะสั้นมีปัญหาแน่ แต่ระยะยาวคงมีประโยชน์คุ้มค่า ทั้งนี้ตัวเองมีสิ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างส่วนต่อขยายนี้สองเรื่อง เรื่องแรกคือ คิดว่าไม่ควรกำหนดสถานีให้อยู่ตรงทะเลสาบเมืองทองธานี เนื่องจาก พื้นที่ดังกล่าวมีหมู่บ้านใหญ่ ซึ่งประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง มองว่าควรมาตั้งสถานีบริเวณมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแทน เพราะจะทำให้ประชาชนและนักศึกษาได้ประโยชน์มากกว่า เรื่องที่สองที่สำคัญคือ มองว่าไม่ควรเก็บค่าจอดรถกับประชาชนที่มาจอดรถบริเวณสถานีบีทีเอส ควรเป็นการตอบแทนประชาชนมากกว่า นอกจากนี้ ควรให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างได้บัตรลดค่าโดยสารครึ่งราคาตลอดชีพ เพื่อเยียวยาจากการได้รับผลกระทบด้วย ส่วนอัตราค่าโดยสารที่เริ่มต้น 14 บาท ส่วนตัวรับได้





ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่เขตก่อสร้างส่วนต่อขยาย แสดงความเห็นในห้องประชุมไปในทางที่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างส่วนต่อขยาย เพราะเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาการจราจรที่ติดขัดได้ แต่ก็มีประชาชนบางคนที่แสดงความเป็นห่วงว่า รฟม.ควรจัดทำพื้นที่อาจเป็นใต้ทางรถไฟฟ้าเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้มีสถานที่ออกกำลังกาย นอกจากนี้ ยังมีประชาชนที่บ้านติดกับริมถนนได้แสดงความเป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างและเสียงการวิ่งของรถไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน และยังมีประชาชนยื่นข้อเสนอให้รฟม.พิจารณาลดค่าโดยสารให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างร้อยละ 50 ตลอดชีพ รวมทั้งมีการถามถึงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้าง และความปลอดภัยจากสิ่งก่อสร้างต่างๆว่าควรมีการควบคุมและดูแลไม่ให้เกิดปัญหา





ด้านนางสาวจิตรลดา ดำรงสุกิจ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการลงพื้นที่ตรวจวัดสภาพเสียงและเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจวัดตลอดทั้งในหน้าแล้งและหน้าฝน เพื่อประเมินหาผลกระทบ ซึ่งทั้งหมดจะมีการบันทึกอยู่ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ อยู่แล้ว ส่วนการขอออกบัตรลดค่าโดยสารร้อยละ 50 ให้กับผู้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ก่อสร้างนั้นคงไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องของการลงทุน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต้องไปคุยกัน



สำหรับโครงการส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี(สถานีศรีรัช-เมืองทองธานี) นี้กำลังอยู่ในชั้นการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนและการพิจารณาว่าจะสร้างหรือไม่ คาดว่ากลางปีหน้าจึงจะมีความชัดเจน ซึ่งก็จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะไปพิจารณา และเบื้องต้นได้กำหนดว่าจะสร้างส่วนต่อขยายเพิ่ม โดยจะมีระยะทาง 3 กิโลเมตร 2 สถานี คือ สถานีทะเลสาบเมืองทอง และสถานีวงเวียน ใช้งบดำเนินการหลายพันล้านบาท กำหนดเปิดใช้งานในปี 2564 พร้อมกันกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เป็นส่วนเดิมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในขณะนี้





 



ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X