สนช.รับหลักการตั้งสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ผลิตแรงงานตามความต้องการของตลาด

27 เมษายน 2561, 12:05น.


การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันนี้มี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม โดยมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายเพียง 1 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอ


นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนครม. ชี้แจงว่า สถาบันมีสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคลโดยไม่สังกัดหน่วยงานรัฐหรือราชการ เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน โดยรัฐบาลกำลังพยายามหาวิธีปรับแนวคิดของประชาชนและเยาวชนที่ส่วนใหญ่ยังมองว่าการเรียนอาชีวะคือการศึกษาที่ไม่ดี และสู้การเรียนในสายสามัญไม่ได้ ทำให้ขณะนี้ตลาดแรงงานอาชีวะกำลังขาดแคลนอย่างหนัก ทั้งยังขาดแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของประเทศ รัฐบาลจึงกำลังจะปรับเรื่องคุณภาพของสถาบันอาชีวะที่ขณะนี้ทั่วประเทศมีวิทยาลัยอาชีวะอยู่ 400 กว่าแห่ง แต่กลับมีวิทยาลัยอาชีวะที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงอยู่น้อย จึงทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมายังไม่ตอบโจทย์ เชื่อว่าการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาจะสอดคล้องกับการผลิตแรงงานอาชีวะและตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้มากขึ้น โดยรัฐบาลกำลังมุ่งพัฒนาแรงงานอาชีวะอย่างเต็มที่ 


ด้านนาย มณเฑียร บุญตัน สมาชิกสนช. ได้อภิปรายว่า เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทั้งเชื่อว่าแท้จริงแล้วผู้ที่จบการศึกษาจากสายอาชีวะก็มีความสามารถในการทำงานไม่แพ้ผู้ที่จบการศึกษาจากปริญญาตรี โดยในบางอาชีพมองว่าผู้ที่จบสายอาชีวะมีความสามารถมากกว่าผู้ที่จบปริญญาตรีด้วยซ้ำ ซึ่งเห็นได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวเองที่เคยทำงานร่วมกับผู้ที่จบการศึกษาทั้งสองสายอาชีพที่บางงานแม้เป็นงานเดียวกัน แต่ผู้จบอาชีวะทำได้ดีกว่า เพียงแต่สายอาชีวะยังไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควร อีกทั้งสังคมเองก็ให้ค่ากับสายอาชีวะน้อยกว่าผู้จบปริญญาตรี เห็นได้จากค่าตอบแทนแม้ว่าบางครั้งสายอาชีวะจะทำงานได้ดีกว่าก็ตาม ขณะที่สมาชิกสนช.คนอื่นต่างก็มีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้  เพราะเชื่อว่าจะเป็นการตอบสนองต่อพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาไทยให้ดีขึ้น และจะช่วยตอบโจทย์ตลาดแรงงานอาชีวะมากขึ้นด้วย


 


หลังการอภิปราย ที่ประชุมสนช.ได้ลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการรับร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาไว้พิจารณาด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 165 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 5 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจำนวน 21 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 30 วัน


...


ผสข.ธีรวัฒน์ 
ข่าวทั้งหมด

X