อธิบดีกรมชลฯ ต่อยอดทำวิจัยแผนที่ทางน้ำ ช่วยเกษตรกรบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม

26 เมษายน 2561, 16:40น.


การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการนำโครงการวิจัยมาประยุกต์ใช้ ในวันนี้ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่างกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา การวางแผนส่วนใหญ่จะใช้ข้อมูลเชิงสถิติ และการคาดการณ์ แต่ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา พบว่าข้อมูลที่ได้ยังไม่แม่นยำ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้มีการทำโครงการวิจัยเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด โดยได้รับความร่วมมือจาก 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ



โดยในโครงการวิจัยนี้ ปัจจุบันดำเนินงานเสร็จแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ โดยผลสำเร็จของโครงการนี้ คือเกิดโปรแกรมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและทันต่อเหตุการณ์ ที่เรียกว่า NARK 4.0 เพื่อใช้จำลองสถานการณ์ ปริมาณน้ำฝนปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่เขื่อน มีระดับความแม่นยำมากกว่าร้อยละ 80 และสามารถคาดการณ์การระบายของน้ำจากอ่างเก็บน้ำได้ล่วงหน้า 12 เดือน และโครงการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเพื่อการปฏิรูปภาคการใช้น้ำเกษตรกรรมของประเทศไทย ซึ่งเป็น Application เพื่อใช้ในการวางแผนการเพาะปลูกของเกษตรกร ทั้ง 2 โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้นำมาทดสอบใช้งานจริง ตั้งแต่ปี 2559 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 23 จังหวัด รวมไปถึงลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน 2 จังหวัด ทำให้เกิดประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ การกักเก็บน้ำและการนำน้ำออกมาใช้จากอ่างเก็บน้ำ แหล่งเก็บน้ำต่างๆ รวมถึงจะสามารถช่วยแนะนำเกษตรกรด้านการปลูกพืชที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำและดิน โครงการวิจัยนี้ถือเป็นความสำเร็จที่จะเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เช่น ด้านเกษตรกรรม เกษตรกรจะได้รับประโยชน์ สามารถทราบถึงปริมาณน้ำ การเพาะปลูกว่าจะเพียงพอหรือไม่และควรนำแหล่งน้ำ มาจากพื้นที่ใดอย่างเหมาะสม สามารถเพาะปลูกทำการเกษตรสอดคล้องกับปริมาณน้ำ  ถือเป็นข้อมูลเชิงลึกให้แก่เกษตรกร ด้านปริมาณน้ำ ช่วยคาดการณ์ วางแผนการตัดสินใจระบบระบายน้ำได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน  รัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการวิจัยในการกำหนดมาตรการพัฒนาหรือส่งเสริมผลผลิตภาคการเกษตรที่เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจ ความมั่นคงทางน้ำและทางอาหารให้แก่ประเทศด้วย 





ทั้งนี้ ในอนาคตยังได้วางเป้าหมายการสร้างงานวิจัย เรื่องของแผนที่ทางน้ำ (Waterway) เนื่องจากที่ผ่านมา ยังขาดข้อมูลเส้นทางน้ำสาขาย่อยอีกจำนวนมาก  ซึ่งจะได้จัดทำผังน้ำในสาขาย่อย เพื่อใช้ประโยชน์ ทราบถึงทิศทางสภาพการไหลของน้ำอย่างแท้จริง ว่าต้นทางของแม่น้ำสายหลักได้รับน้ำจากพื้นที่ใดบ้างนอกจากน้ำจากปริมาณน้ำฝน



ส่วนในอนาคตการนำงานวิจัยด้านต่างๆ เพื่อมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำนั้น กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำตามหลักนโยบายของความรวดเร็ว ถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถตอบโจทย์ตามเป้าหมายในพื้นที่



ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X