เริ่มสอบนัดแรกหาคนปล่อยคลิปเสียงล้มกสทช. ประธานยันไม่ใช่เสียงตัวเอง

26 เมษายน 2561, 12:40น.


การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีคลิปเสียงหลุดว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ล้มกระดานกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เพราะนายกรัฐมนตรี ไม่ชอบว่าที่กรรมการกสทช. พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกสนช.ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กล่าวถึง การประชุมนัดแรกว่า จะกำหนดประเด็นการทำงานตามที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. มอบหมายมา โดยจะใช้คลิปเสียงหลุดดังกล่าวเป็นตัวตั้งเพื่อสอบสวนหาที่มาของคลิป หาสถานที่ที่มีการคุยกัน และพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นคลิปเสียงที่ถูกตัดต่อขึ้นมาหรือไม่ การประชุมสนช.ในการเลือกกรรมการกสทช.เป็นการประชุมลับ ไม่ควรมีคลิปเสียงหลุดออกมา เพราะจะเกิดผลกระทบต่อการพิจารณาและยังมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอกด้วย ยืนยันว่าจะดำเนินการตรวจสอบอย่างเต็มที่ คาดว่าจะเสร็จสิ้นทันภายในเวลา 30 วันตามกรอบ หรือภายในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้



กรณีที่มีผู้ระบุว่าตัวละครหนึ่งที่พูดในคลิปเสียงหลุดดังกล่าวแท้จริงแล้วก็คือตัวพล.ต.อ.ชัชวาล ที่เป็นประธานกรรมการสอบคลิปหลุด พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยืนยันว่า ไม่ใช่เสียงตัวเองแน่นอน เพราะตัวเองไม่ได้ร่วมเป็นกรรมาธิการฯใดๆของกระบวนการสรรหากสทช. และไม่เคยพูดคุยเรื่องนี้กับใครที่ไหนด้วย คาดว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิดมากกว่า อยากให้เชื่อมั่นว่าข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และคลิปก็สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักการนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมการฯก็มีอำนาจเรียกบุคคลภายนอกมาสอบสวนได้ ทั้งนี้ การจะเอาผิดกับผู้ที่เผยแพร่คลิปเสียงคงต้องดูเจตนาและความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงจะต้องดูข้อกฎหมายว่ามีช่องทางเอาผิดได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่มีสื่อมวลชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่คลิปเสียงจะต้องดูข้อกฎหมาย และเจตนาของผู้เผยแพร่ด้วย สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ที่มีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ เป็นประธาน มีคณะกรรมการ 5 คน มีนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข สมาชิกสนช. นายพงษ์กิตต์ อรุณภักดีสกุล รองเลขาธิการวุฒิสภา และเจ้าหน้าที่รัฐสภาอีก 2 คน แต่ไม่พบว่ามีบุคคลจากภายนอกหรือผู้เชี่ยวชาญด้านคลิปเสียงเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบฯ



ส่วนการประชุมสนช. วันนี้มีวาระพิจารณากฎหมายจำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ที่นายแพทย์ เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช.เป็นผู้เสนอ  พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พ.ศ.2561 ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้เสนอ



ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X