กรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2561 ที่มีคำสั่งให้ยกเลิกและระงับกระบวนการ สรรหาคัดเลือกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจกรรมโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งอาจจะทำให้ยืดระยะเวลาการสรรหาออกไปอีก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียด แต่ส่วนหนึ่งของเนื้อหาได้ให้ระงับการสรรหาไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะต้องสรรหาภายใน 30 วัน และหากใช้กติกาแบบเดิมก็จะเกิดปัญหาอีก ดังนั้นจะต้องแก้ไขก่อน และให้กสทช. ชุดเดิมรักษาการไปก่อน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปคิดวิธีการแก้ปัญหาว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการคว่ำรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาก่อนหน้านี้ โดยไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติ แต่เป็นวิธีการสรรหาร และยืนยันว่าการทำงานของกสทช. ไม่ได้ชะงัก ถ้าจะมีการลาออกเพิ่มเติม ซึ่งต่อจากนี้จะมีเร่งรัดการสรรหา แม้ว่าในประกาศของ คสช. ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้
ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้เห็นชอบในเบื้องต้นไปแล้ว แต่ต้องดำเนินการในรายละเอียดอีก โดยการช่วยเหลือจะต้องรู้ว่ามีความสมน้ำสมเนื้อหรือไม่ คือ รัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชนจะได้ประโยชน์หรือไม่ รวมถึงผู้ลงทุนรายอื่นๆ ทั้งนี้ไม่ตอบว่าจะออกเป็นมาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือหรือไม่ เพราะเป็นสิ่งที่คสช. นั้นทราบ ส่วนเรื่องคดีของนางพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ไทยทีวี จำกัด หรือ "เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล" ที่ฟ้องร้องให้ยกเลิกสัญญาทีวีดิจิทัล ก็ขอให้เป็นเรื่องของศาล ที่ยังตัดสินไม่สิ้นสุด ส่วนข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นั้นก็จะนำมาประกอบการพิจารณาด้วย
ส่วนกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า คสช. เตรียมสืบทอดอำนาจโดยระดมทุนเงินตั้งพรรคทหารกว่า 4 หมื่นล้าน เนื่องจากเรื่องนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ก็มองว่าไม่ใช่เรื่องจริง ดังนั้นต้องดูว่าผู้พูดมีเจตนาอย่างไร เพราะไม่มีมูลความจริง และหากตรวจสอบแล้วไม่พบความจริงก็จะมีความผิด ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจะให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบว่าการออกมาพูดเช่นนี้กระทบถึงใครหรือไม่นั้น ตัวเองยังไม่ทราบ เพราะไม่ใช่คนคิดที่จะเอาผิด แต่ในเมื่อนายกรัฐมนตรีให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ตนเองก็คิดแบบนายกรัฐมนตรี อีกทั้งเรื่องนี้ตนเองก็มองว่ายังไม่ถึงขั้นดิสเครดิตก่อนการเลือกตั้ง หรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่มองว่าเป็นการกระทำเพื่อสร้างเรื่องให้คนอื่นเข้าใจผิด จนเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน
ส่วนกรณีที่นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านการคอรัปชั่นประเทศไทย ระบุว่า เป็นเวลากว่า 8 เดือนที่รัฐบาลไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) จึงเป็นการตั้งคำถามว่ารัฐบาลยังคงเข้มงวดในการปราบคอรัปชั่นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในการประชุม คตช. เป็นบอร์ดคณะกรรมการที่เป็นการทำงานบูรณาการร่วมกัน ระหว่างหน่วยปฏิบัติงานทั้ง 5 หน่วย คือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยมีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้กำกับดูแล
ขณะนี้ ศอตช. ที่ดูเรื่องทุจริตมีการทำงานตามปกติ ตามคำสั่งคสช. ที่เป็นผู้กำกับดูแลโดยตรง ซึ่งระหว่างที่ไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมการ คตช. ก็มีการทำงานและรายงานผลตามปกติทุกวัน โดยไม่ต้องรายงานต่อสาธารณชน เมื่อมีเรื่องจึงจะจัดการประชุม โดยในเมื่อวานนี้ได้มีการรายงานต่อที่ประชุม คสช. ตามปกติ ถึงการทำงานที่มีความต่อเนื่อง นอกจากการรายงานแล้วยังมีการพิจารณาถึงปัญหาของคณะกรรมการที่มีการเปลี่ยนแปลงบุคคล ไม่ว่าจะเกิดจากการลาออก หรือเกษียณอายุราชการ โดยยืนยันว่าการทำงานนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวบุคคลนั้นยังไม่ทราบว่าจะมีการสับเปลี่ยนหรือไม่ เพราะอำนาจทั้งหมดเป็นการตัดสินใจของหัวหน้า คสช. ซึ่งภายหลังที่มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเสร็จสิ้นจะมีการจัดการประชุมขึ้นอีกครั้ง