รมช.คมนาคม ชี้ พัฒนาท่าเรือคลองเตย เป็นท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ช่วยแก้ปัญหาจราจร ลดรถบรรทุกขนสินค้า

25 เมษายน 2561, 12:20น.


การยกระดับและพัฒนาการขนส่งทางเรือ  นาย ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือ กทพ.ได้เปิดท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ท่าเรือกรุงเทพ(ทกท.) โดยนำพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตยมาปรับปรุงใช้เป็นท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G  นอกจากจะช่วยลดปริมาณรถบรรทุกและรถหัวลากขนาดใหญ่ที่ต้องวิ่งส่งของจากท่าเรือคลองเตยไปท่าเรือแหลมฉบังได้ปีละกว่า 200,000 คันต่อปี และช่วยลดมลพิษและภาวะการจราจรที่ติดขัดได้แล้ว ยังจะเป็นการยกระดับการขนส่งทางเรือให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น คาดว่าจะมีเรือชายฝั่งเข้าเทียบท่าประมาณ 2,500 ลำต่อปี หรือจะมีตู้สินค้าเข้ามารับส่งของประมาณปีละ 240,000 ที.อี.ยู  แต่เบื้องต้นปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 100,000 ที.อี.ยู ก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะถึงอันเห็นได้จากการส่งออกของไทยที่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาโตขึ้นเกือบร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้เรือชายฝั่ง 1 ลำที่เข้าเทียบท่านั้นจะสามารถบรรทุกตู้สินค้าได้ถึง 60 ที.อี.ยู แปลว่าเรือชายฝั่ง 1 ลำจะประหยัดรถบรรทุกที่วิ่งส่งของจากท่าเรือกรุงเทพถึงท่าเรือแหลมฉบังได้ถึง 60 คัน





สำหรับการพัฒนาท่าเทียบเรือนี้ยังเป็นการตอบโจทย์ต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการช่วยให้ไทยมีโอกาสถูกจัดอันดับเรื่องความยากง่ายของการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้น และยังเป็นการพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้านฝั่งท่าเรือแหลมฉบังเองได้มีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับเรือชายฝั่งที่จะวิ่งจากท่าเรือกรุงเทพไปแหลมฉบังให้มากขึ้นแล้ว ส่วนอนาคตอาจมีการพัฒนาพื้นที่อื่นๆให้เป็นเหมือนท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G นี้อีกหลายที่ เช่น ที่สุราษฎร์ธานี เป็นต้น





ท่าเทียบเรือดังกล่าวมีความยาวประมาณ 250 เมตร รองรับเรือชายฝั่งได้พร้อมกันคราวละ 3 ลำ และมีการติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าจำนวน 2 คัน โดยสามารถยกตู้สินค้าได้ 40 ตัน โดยการเปิดท่าเทียบเรือชายฝั่งนี้ยังได้ทำควบคู่ไปกับโครงการบรรจุสินค้าในเขตท่าเรือกรุงเทพ ที่เป็นการให้ความสะดวกผู้ประกอบการในการตรวจสอบสภาพสินค้าและน้ำหนักตู้สินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว โดยเมื่อเรือจากท่าเรือกรุงเทพมารับสินค้าแล้ววิ่งไปท่าเรือแหลมฉบังก็สามารถไปขึ้นเรือแม่ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาตรวจเช็คสินค้าอีก





ด้านนาย สุวัฒน์ อัศวทองกุล สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ ในฐานะเอกชน ผู้ส่งสินค้า ระบุว่า การพัฒนาท่าเทียบเรือนี้จะช่วยลดต้นทุนของผู้ขนส่ง คาดว่าต่อตู้สินค้าจะประหยัดต้นทุนลงได้ร้อยละ 30 มองว่ายังตอบโจทย์การใช้เรือเล็กมาช่วยส่งสินค้า เพราะปัจจุบันเรือแม่ที่วิ่งส่งสินค้ามีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆบางลำไม่อาจเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพได้แล้ว ดังนั้นการเปิดท่าเทียบเรือนี้จะช่วยให้นำเรือเล็กมาลำเลียงได้แทน และยังจะช่วยลดการรอการถ่ายสินค้าลงด้วย โดยปกติเรือ 1 ลำต้องใช้เวลาเทียบท่ารอถ่ายสินค้าประมาณ 2-3 วัน แต่จากนี้เชื่อว่าในบริเวณท่าเรือกรุงเทพจะใช้เวลารอน้อยลง





 



ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร ผสข.

ข่าวทั้งหมด

X