การอบรมสื่อมวลชนด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่3 หรือ Road Safety Journalism Fellowship 2018 ซึ่งจัดขึ้นโดย World Health Organization (WHO) และ Internews เพื่อพัฒนาการสื่อสารแก่สื่อมวลชนในประเทศไทย ให้ผลิตข่าวเชิงวิเคราะห์สร้างความตระหนักแก่สาธารณะ
โดยครั้งนี้ถือเป็นการเจอกันครั้งแรกของสื่อมวลชนผู้เข้าร่วมอบรม ที่จะต้องทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านทฤษฎี และด้านปฎิบัติ เป็นระยะเวลา 5เดือน โดยในครั้งนี้นอกเหนือจากการทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการอบรม ที่เน้นการพัฒนาศักยภาพด้านการรายงานข่าวเพื่อลดสถิติอุบัติเหตุทางท้องถนน เพราะปัจจุบันจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นอันดับ 1ของโลก หรือเสียชีวิตปีละกว่า 22,000คน
ในวันนี้(24เม.ย.61)ผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมอบรมในโครงการ ได้ร่วมกิจกรรมกับ AIP หรือ มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย ถือเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อสู้กับการระบาดของอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งทำให้เกิดการเสียชีวิตและทุพพลภาพเป็นจำนวนมาก โดยสมาชิกในมูลนิธินั้น จะประกอบไปด้วยหลายหน่วยงาน เช่น นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) รวมทั้งนักวิชาการแขนงต่างๆ ที่มุ่งผลักดันให้ข้อกฎหมายได้รับการแก้ไข เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้านความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย การเข้ากลุ่มในวันนี้ ถูกยกตัวอย่างเป็น 3ประเด็น คือ 1.เรื่องการใช้ความเร็ว 2.รถโดยสารสาธารณะ และ 3.รถจักรยานยนต์ ที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน ได้พูดคุย และสัมภาษณ์กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้ทราบถึงปัจจัย สาเหตุ และสถิติที่เป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอข่าวต่อไป
ท้ายที่สุดการอบรมสื่อมวลชนด้านความปลอดภัยทางถนน เป็นเพียงด้านหนึ่งที่เสนอข่าวเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัย และทราบว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนป้องกันได้ ไม่ได้เกิดจากโชคชะตา หรืออาถรรพ์
วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์ ผสข.