หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติ โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่และอาชีวะพันธุ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ โครงการไทยเเลนด์ 4.0 เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ความขาดแคลนช่างฝีมือ วิศวะด้านต่างๆ และตอบโจทย์ผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยสร้างบัณฑิตให้มีทักษะความรู้ โดยให้สถาบันปรับหลักสูตรใหม่ แบ่งออกเป็นการเรียนการสอนร้อยละ 50 และลงพื้นที่ประสบการณ์จริงในพื้นที่ของภาคเอกชน ร้อยละ 50 พร้อมให้มีอาจารย์พิเศษเข้ามาสอนทักษะประสบการณ์จริง โดยถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่ตอบโจทย์การตลาด สร้างการเปลี่ยนแปลง มีกำลังคนพันธุ์ใหม่ที่มีทักษะสูงตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและสร้างแพลตฟอร์มใหม่ในหลักสูตรให้มีการปรับใหม่ เพื่อให้เด็กที่จบมามีงานทำ
เบื้องต้นมี 20 มหาวิทยาลัยที่ได้รับคัดเลือก แบ่งเป็น 235 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรระยะสั้น 119 หลักสูตร ให้เข้ารับการอบรมระยะเวลา 6 เดือน - 1 ปี หลังจบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งตั้งเป้าว่า ใน 3 ปีแรก จะสามารถพัฒนาบุคคลได้ 51,999 คน และหลักสูตรยาวระยะเวลา 5 ปี มีทั้งสิ้น 116 หลักสูตร โดยคาดว่าหลังจบหลักสูตรในแต่ละปี จะมีบัณฑิตพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ประมาณ 56,078 คน ขณะที่ หลักสูตรอาชีวะพันธุ์ใหม่จะสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ได้ประมาณ 8,500 คน โดยทั้งหมดจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2561 ที่จะเปิดการศึกษาในเดือนพฤษภาคมนี้ เบื้องจะขอใช้งบประมาณกลางปี 2561 จำนวน กว่า 1,356 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าว : เกตุกนก ครองคุ้ม