กรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติล้มกระดานไม่เห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกสทช. ทั้ง 14 คน นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับการคว่ำรายชื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จำนวน 7 คน ก่อนหน้านี้ จึงต้องรอดูว่าสนช.จะมีการชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างไร และจะมีการสอบสวนเกี่ยวกับคลิปเสียงหลุดที่ว่ามีการล้มกระดานกรรมการกสทช. เพราะนายกรัฐมนตรีไม่เอาด้วยหรือไม่อย่างไร และต้องติดตามว่าคณะกรรมการสรรหาฯ จะมีการชี้แจงอย่างไร ในส่วนตัว รู้สึกแปลกใจที่คณะกรรมการสรรหากรรมการกสทช.และสนช.ไม่ได้พูดคุยกันเกี่ยวกับการสรรหาทั้งเรื่องการสรรหากกต. และกสทช. ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงต้องมาคิดกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลจากองค์กรต่างๆ เป็นเพราะกระบวนการสรรหาไม่ได้กลั่นกรองตัวผู้สมัครหรือไม่ แล้วถ้าสนช.อ้างว่าไม่เห็นชอบเพราะว่าที่กรรมการกสทช.หลายคนขาดคุณสมบัติ ตัวเองก็สงสัยว่าแล้วคณะกรรมการสรรหา ปล่อยผ่านให้มีชื่อขึ้นมาในชั้นสนช.ได้อย่างไร ทั้งนี้ ถ้ากระบวนการสรรหาล้มเหลวหลายๆครั้ง สนช.ก็ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร ส่วนการสรรหาครั้งหน้าก็ยังไม่มีอะไรมาการันตีว่าจะได้บุคคลที่มาเป็นกรรมการทั้งสองคณะได้ แล้วถ้ารอบหน้าเกิดได้บุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ สังคมก็อาจสงสัยได้ว่าเป็นเพราะมีคำสั่งมาจากใคร ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้ และก็รู้สึกว่าสังคมเหมือนยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนในการคว่ำกรรมการกกต.และกสทช. จึงมองว่าควรมีการสรุปหาเหตุผลให้ได้
กรณีที่รัฐบาลมีการดึงตัวนักการเมืองจากกลุ่มพรรคพลังชลมาร่วมงานกับรัฐบาล และมีข่าวว่ากลุ่มตระกูลปิตุเตชะ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฐานเสียงของพรรคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นกลุ่มต่อไปที่จะถูกดึงเข้ามาทำงานกับรัฐบาลด้วย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอให้ไปถามนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคจะดีกว่า แต่เท่าที่ทราบขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไรจากอดีตส.ส.กลุ่มนี้ว่าจะย้ายไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่น ทั้งนี้ ถ้าใครอยากจะออกจากพรรคเพื่อมุ่งหวังไปรับตำแหน่งทางการเมืองก็สามารถทำได้ ยืนยันว่าตัวเองไม่มีความกังวลใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการทำงานกับเฉพาะคนที่มีอุดมการณ์ที่มั่นคงและมองถึงการทำงานระยะยาวกับพรรคด้วยเท่านั้น ส่วนตัวยังเชื่อว่าพรรคการเมืองที่จะก่อตั้งโดยรัฐบาลจะมีการดึงส.ส.จากพรรคอื่นๆไปเข้าร่วมกลุ่มอีกแน่ แต่จะเป็นกลุ่มการเมืองใดคงต้องรอดูต่อไป
ส่วนที่มีการมองว่ารัฐบาลมีความพยายามที่จะดึงกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าร่วมกลุ่ม เพื่อป้องกันพรรคการเมืองใหญ่ได้เสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้เองหลังการเลือกตั้งนั้น ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความพยายามสร้างฐานการเมืองของรัฐบาล ทั้งนี้อะไรที่เป็นสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ทำได้ แต่ควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย ที่สำคัญต้องไม่ลืมเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองที่รัฐบาลอ้างมาตลอด นายอภิสิทธิ์ มองว่า ถ้ายังเห็นการเมืองเป็นเรื่องต่างตอบแทนกันอยู่เช่นนี้ก็ยากที่การเมืองไทยจะดีขึ้นในอนาคตได้
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร