วันนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเรียกผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายเข้าชี้แจงกรณีมีข่าวเอสเอ็มเอสหรือข้อความสั้นดูดเงินประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกรณีข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าทรูรั่วไหลบนคลาวด์ (Cloud)
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า กรณีของเอสเอ็มเอสถือเป็นการที่ผู้ใช้บริการต้องเสียเงินโดยไม่ได้สมัครใจ โอเปอเรเตอร์ต้องชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ส่วนกรณีของทรูมูฟเอช ต้องชี้แจงว่าข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดสิ้นสุดเมื่อไหร่ มีจำนวนเท่าใด มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร และจะชดใช้ให้ลูกค้าอย่างไร
วันนี้ติดตามความคืบหน้า กรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กรณีทุจริตเงินทอนวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 3 แห่ง 4 คดี ซึ่งปรากฎว่ามีชื่อพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป เข้ามาเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร, พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการ มส. และเจ้าคณะภาค 4-7 พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการ มส. และเจ้าคณะภาค 10, พระเมธีสุทธิกร (สังคม ญาณวฑฺฒโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และ พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ฐานกระทำความผิดอาญาคดีทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม
พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. เปิดเผยว่า ได้ส่งสำนวนไปให้กับทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วเมื่อวันที่ 11 เมษายน ดังนั้นอำนาจการสอบสวนจะอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. ส่วนการฟอกเงินจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยในวันที่ 19 เมษายน ผอ.พศ.จะมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม กรณีทุจริตเงินทอนวัดที่จะเป็นคดีใหม่ โดยบางประเด็นจะมีการเจาะลึกลงไปถึงงบประมาณในแต่ละวัด ซึ่งไม่เกี่ยวกับ 4 สำนวนที่ส่งไปยัง ป.ป.ช.
ส่วนการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงกระบวนการเช่าสัญญาณของระบบโมเน็ต (MoeNet ) ที่มีนายสมศักดิ์ มิตะถา ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาหรือยูนิเน็ต (UniNet) ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นประธานนั้น ขณะนี้ได้ดึงเรื่องกลับมาแล้ว โดยพบว่า มีการเสนอเงินให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ในการต่อสัญญาเช่าสัญญาณ นอกจากนี้ยังมีมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ใช้สัญญาณจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แต่กลับไปใช้สัญญาณจากบริษัทเอกชน ที่ส่งหนังสือมาทวงเงินค่าใช้บริการจำนวน 60 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินตามหนังสือ เพราะไม่มีสัญญาเช่าซื้อ
ส่วนการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต นายการุณ ยืนยันว่า เงินต้นของกองทุนฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 600 ล้านบาท ยังอยู่ในบัญชีธนาคารพร้อมดอกเบี้ยอีกจำนวน 49 ล้านบาท ยืนยันว่าเงินไม่ได้หายไปไหน แต่จะต้องมีการเยียวยาให้กับผู้เสียหายทั้งครูและนักเรียน ที่ไม่ได้รับทุนตามสิทธิ์ จำนวน 198 ราย เป็นเงิน 11 ล้านบาท
ส่วนข้าราชการที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จะมีการย้ายข้าราชการสังกัด สป. ออกจากหน้าที่เดิมก่อน จำนวน 6 ราย ส่วนข้าราชการ ระดับ8 อีก 2 รายนั้นเป็นข้าราชการสังกัดอื่นจะต้องเสนอให้ต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยคาดว่าจะออกคำสั่งได้ภายในสัปดาห์หน้า
กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ในสโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. (ปป) พร้อมด้วย พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผบช.ปส. ร่วมกันแถลงข่าวผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2561 ห้วงระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-17 เมษายน ยึดของกลางไอซ์ 250 กิโลกรัม เฮโรอีน 26.6 กิโลกรัม และผลการจับกุมตามหมายจับ
ส่วน พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท.พร้อมตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจ 191 และ สน.ชนะสงคราม แถลงข่าวจับกุมแก๊งค์กรีดกระเป๋าชาวต่างชาติ (เป็นชาวเวียดนาม 1 ราย กัมพูชา 2 ราย) พร้อมของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือ 25 เครื่อง และอื่นๆ หลายรายการ มูลค่าประมาณ 500,000 บาท โดยก่อเหตุย่านถนนข้าวสาร
...