การเดินทางตามรอย ต่อยอด บุพเพสันนิวาส จากอยุธยาสู่ลพบุรี กับกรมศิลปากร หลังจากเมื่อช่วงเช้าไปชมพระราชวังโบราณและวัดไชยวัฒนาราม ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว จังหวัดลพบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก ซึ่งกรมศิลปากร พาไปที่วัดสันเปาโล ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชที่ดินให้แก่บาทหลวงเยซูอิต 12 รูป ที่เดินทางมาสู่กรุงสยาม ครั้งที่ 2 ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อต้อนรับบาทหลวงชุดแรกและชุดที่2 ที่เป็นนักดาราศาสตร์ จะมาประจำเมืองลพบุรี เดินทางเข้ามาพร้อมกับเจ้าพระยาโกษาปาน ที่ไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยให้วัดสันเปาโล เป็นที่ทำพิธีทางศาสนา ที่พักและเป็นหอดูดาวสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งแรกในกรุงสยาม
จากนั้นพามาชมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงบูรณะ หลังจากสร้างขึ้นประมาณปลายกรุงสุโขทัย และชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ก่อนจะเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2231
จากนั้นที่แห่งนี้ถูกทิ้งร้าง จนปี 2399 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณะและสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" ซึ่งบริเวณนี้ถูกแบ่งออกเป็น3เขต คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก,เขตพระราชฐานชั้นกลาง,เขตพระราชฐานชั้นใน แต่ละเขตจะมีประวัติศาสตร์มากมาย
และชมที่สุดท้าย คือ บ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือบ้านหลวงรับราชทูต ที่ขณะนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบ้านพักของคณะทูตชาวฝรั่งเศส ส่วนบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ขุนนางชาวกรีก และท้าวทองกีบม้า ภรรยา และส่วนที่ตั้งโบสถ์ของคริสต์ศาสนาที่สถาปัตยกรรมเป็นแบบ Renaissence ผสมสถาปัตยกรรมไทย แห่งแรกของไทยและของโลกด้วย
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า นวนิยายหรือบทละครอิงประวัติศาสตร์มีคุณค่า ทำให้เกิดความสนใจเรียนรู้ค้นคว้าหาข้อมูลประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตไทย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด อย่างนวนิยายเรื่อง บุพเพสันนิวาส บทประพันธ์ของ รอมแพง ได้ทำให้เกิดกระแสรักษ์ไทย แต่งชุดไทย และประชาชนสนใจประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากร จัดโครงการวรรณคดีและประวัติศาสตร์สัญจร กิจกรรมตามรอย ต่อยอด บุพเพสันนิวาส ขึ้นมา โดยนำประชาชนผู้สนใจร่วมศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ภาษา วรรณกรรม และจารีตประเพณีสมัยอยุธยา มาท่องเที่ยวและศึกษาโบราณสถานสำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดลพบุรี ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านประวัติศาสตร์กับบุคคลภายนอก เช่น จังหวัดลพบุรี ก็เป็นอีกจังหวัดที่สำคัญในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จฯประทับ เช่น วัดสันเปาโลเป็นที่พักของบาทหลวง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างราชทูตในสมัยนั้น และนอกเหนือจากการจัดกิจกรรมนี้แล้ว กรมศิลปากรยังจัดทำหนังสือ การบรรยาย ต่างๆขึ้นมาอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างดี ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมวันละ 60คน โดยกรมศิลปากร นำเที่ยวสถานที่ที่สำคัญของทั้ง2จังหวัด นอกจากนี้ยังมีการเสวนา “วรรณคดีและประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมรับฟังการบรรเลงเพลงสมัยอยุธยา จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากรในช่วงเย็นด้วย หวังว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มากขึ้น โดยหลังเทศกาลหลังสงกรานต์จะหารือกันอีกครั้งว่าจะจัดกิจกรรมเช่นนี้ขึ้นมาอีกเมื่อใดในสองจังหวัดและจังหวัดอื่นๆที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พร้อมเชิญชวนประชาชนคนไทยเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ให้ลึกซึ้ง เพราะละครต้องมีวันอวสาน แต่มองว่าประวัติศาสตร์จะต้องไม่มีวันจบ อธิบดีกรมศิลปากร ฝากถึงนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ อย่าปีนป่าย เด็ดขาด ซึ่งการเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยและปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี จะส่งผลดีถึงภาพลักษณ์ของประเทศ
ด้านนางสาววลัยลักษณ์ ตรียารักษ์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ปกติเป็นคนชอบเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เคยมาจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดลพบุรีหลายครั้ง แต่เมื่อเห็นประชาสัมพันธ์กิจกรรมนี้ตามสื่อ จึงตัดสินใจเข้าร่วมประกอบกับกรมศิลปากร พามาด้วย น่าจะได้ความรู้มากกว่ามาด้วยตัวเอง ส่วนตัวประทับใจสถานที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์มากที่สุด เนื่องจากยังหลงเหลือโครงสร้างด้านสถาปัตยกรรมให้ชมอยู่ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ เห็นด้วยกับการแต่งชุดไทยเที่ยวชมประวัติศาสตร์ แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และอยากเห็นภาพคนไทยแต่งชุดไทยเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป
ผู้สื่อข่าว: ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ