การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ล่าสุดที่ประชุมได้เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 56 มาตรา มีการแก้ไขจำนวน 21 มาตรา และตัดออกทั้งมาตราจำนวน 1 มาตรา ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าต้องรับฟังความเห็นแล้ว โดยกองทุนดังกล่าวมุ่งเน้นให้ทุนทรัพย์การศึกษาแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสทางการศึกษา
นาย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. ระบุว่า ตัวกองทุนยังมีความไม่ชัดเจนในการตีความทางกฎหมายว่าอาจจะเอื้อกับสถาบันมหาวิทยาลัยเอกชนต่างๆหรือไม่ เพราะมีการบัญญัติว่าตัวกองทุนสามารถไปร่วมมือกับสถาบันมหาวิทยาลัยต่างๆได้ ซึ่งควรแก้ให้ชัดเจนกว่านี้ ขณะที่สมาชิกสนช.คนอื่นก็เห็นเช่นเดียวกับนาย วัลลภ แต่ก็มองว่ากองทุนดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะต้องจัดตั้งให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในม.54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 อีกทั้งรัฐในฐานะผู้บริหารประเทศมีหน้าที่ต้องส่งเสริมบุคลากรในประเทศให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมสนชได้ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 181 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 24 คน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการปรับแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับเก่าที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบัน โดยเป็นการปรับแก้ทั้งสิ้นใน 5 ประเด็นหลัก เช่น การปรับแก้เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งและมาตรการกฎระเบียบต่างๆของคณะกรรมการอัยการ(กอ.)
ที่ประชุมสนช.ยังได้ลงมติวาระที่ 1 รับร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองไว้พิจารณาด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 184 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจำนวน 22 คน ระยะเวลาดำเนินงาน 60 วัน
ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร ผสข.