การปรับปฏิทินการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำให้ทำการปลูกข้าวนาปีเร็วขึ้น เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลาก โดยในวันนี้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดการส่งน้ำให้เกษตรกร ในพื้นที่บ้านวังขี้เหล็ก ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ในโครงการบางระกำโมเดลปี 2561 โดยมีนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการบางระกำโมเดลเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำของจังหวัดพิษณุโลก เป็นจุดรับน้ำทั้งจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก โดยชาวบ้านจะได้รับผลกระทบในฤดูน้ำหลาก ส่งผลต่อพืชผลทางการเกษตรเป็นประจำทุกปี ซึ่งพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น ได้ติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยปรับแผนการเพาะปลูกพืชนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำจากเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนเมษายน ซึ่งมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการ 265,000 ไร่ ดำเนินการเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2560 หลังจากนั้นจะใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อรับน้ำหลาก บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จ.สุโขทัย
ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่บางระกำ จะได้รับอาชีพเสริมคือการทำประมงในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมประมง เข้ามาปล่อยปลาเข้าทุ่งให้กับชาวบ้าน ส่วนในปีนี้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มปล่อยน้ำในวันนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้เพาะปลูกข้าวนาปี พรุ่งนี้เป็นวันแรก พร้อมเตรียมขยายพื้นที่ออกเป็น 382,000 ไร่ รองรับปริมาณน้ำได้มากกว่า 550 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุม 4 พื้นที่จังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยปรับแผนการทำนา จากเดือนมิถุนายน เป็นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการมีอาชีพเสริม คือการประมง และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตจากปลาทำให้มีรายได้ถึงวันละ 300 - 500 บาทต่อครัวเรือน รวมถึงประโยชน์ที่จะช่วยลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วม จากเดิมเสียหายกว่าแสนไร่ เหลือเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่
ขณะที่การเตรียม รับมือในช่วงฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงในพื้นที่ทุ่งบางระกำกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะคอยติดตามสถานการณ์น้ำจากลุ่มแม่น้ำยม และลุ่มน้ำสาขาที่จะไหลเข้าสู่ทุ่งบางระกำ ซึ่งสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในปีนี้สามารถรับน้ำได้เพิ่มเป็น 550 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเริ่มรับน้ำในเดือนสิงหาคมและปล่อยน้ำลงทุ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำนาปรังของเกษตรกร ทั้งนี้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะควบคุมระดับน้ำไม่ให้กระทบต่อเส้นทางสัญจรหลักของประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ผู้สื่อข่าว: เกตุกนก ครองคุ้ม