รมช.คมนาคม เชื่อมั่น นร.รุ่นแรก 72 คนของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ช่วยพัฒนาประเทศ

31 มีนาคม 2561, 13:20น.


การจัดพิธีมอบเกียรติบัตรและแสดงความยินดี แก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รุ่นแรก รวมทั้งสิ้น 72 คน ของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กล่าวว่า ปตท. มีนโยบายส่งเสริมการศึกษา จึงตั้งใจสร้างโรงเรียนกำเนิดวิทย์ขึ้นมา จากหลักคิด “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” เพื่อพัฒนา ผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถมากที่สุด มาพัฒนาประเทศไทย เด็กกลุ่มแรกที่จบไป จึงเป็นทั้งความหวังของปตท. และประเทศชาติ





นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ให้ทุนการศึกษากับนักเรียนมาตลอด ขณะเดียวกันได้นำนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มาให้การสนับสนุน ในโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เพื่อไม่ให้นักเรียนกลุ่มพิเศษนี้สูญหายไป ปตท. ให้ทุนการศึกษากับนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนดังกล่าวร้อยเปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีนักเรียนมาสอบ 5,000 คน แต่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ รับเพียง 72 คนเท่านั้น จึงมีกระบวนการคัดเลือกจากผลการเรียน การสัมภาษณ์ และดูโปรไฟล์การทำกิจกรรม การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มีอาจารย์ในโรงเรียนจบปริญญาโท และปริญญาเอก ร้อยละ 85 ขณะที่หลักสูตรไม่ได้เน้นเพียงการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่มีการทำกิจกรรม ศิลปะ วัฒนธรรม และภาษาอังกฤษ ที่มีนักเรียนสอบ TOEFL ITP ได้คะแนน เฉลี่ยกว่า 500 คะแนน และโรงเรียนแห่งนี้มีวัสดุ อุปกรณ์ที่มีความพร้อมมากที่สุด





อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักเรียนที่จบรุ่นแรก ได้ทุนการศึกษาและวิจัยที่เกาหลี 10 คน ญี่ปุ่น 3 คน และมีนักเรียนที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย 18 คน ซึ่งนักเรียนกลุ่มดังกล่าวสามารถได้สถานที่เรียนต่อก่อนจะมีการเปิดสอบ ปตท. ได้ให้เงินสนับสนุนเดือนละ 10,000 บาท กับนักเรียนทั้ง 18 คนด้วย





ทั้งนี้ โรงเรียนกำเนิดวิทย์จัดขึ้นโดยกลุ่ม ปตท. มีมูลนิธิพลังแห่งการเรียนรู้เป็นผู้รับใบอนุญาต มีวัตถุประสงค์พิเศษในการจัดการศึกษา เพื่อบ่มเพาะนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในลักษณะโรงเรียนประจำ มีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอน พัฒนานักเรียนอย่างเต็มศักยภาพเป็นรายบุคคล หรือเรียกว่า “การจัดการศึกษาเป็นตัวตัด” ทำให้สามารถศึกษาในมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของโลก จนถึงระดับปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก เพื่อพัฒนาไปสู่นักวิจัย นักประดิษฐ์ และนวัตกรรมชั้นนำของประเทศ และสามารถทำงาน รวมถึงแข่งขันกับต่างประเทศได้





 



ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข



 

ข่าวทั้งหมด

X