พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 6 โดยผู้นำทั้งสองประเทศ เห็นว่า เป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ไทย-ลาวแนบแน่นที่สุด และมีกลไกความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความสำเร็จเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งสอง เช่น กลไก GBC JC ที่รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้มีการหารือกันอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไทย-ลาว ยังมีความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงที่สำคัญ เช่น สะพาน และถนนสายต่าง ๆ ซึ่งไทยและลาวจะร่วมกันพัฒนาความเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ 2 ประเทศ และภูมิภาค
ในโอกาสนี้ ไทยได้หยิบยกเรื่องการจดทะเบียนแรงงานว่า รัฐบาลไทยได้ขยายเวลาการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวถึงเดือนมิถุนายนนี้ จึงขอให้แรงงานจากลาวรีบไปจดทะเบียนตามกฎหมายให้ทันเวลา ในตอนท้าย นายกฯได้กล่าวถึงการจัดการประชุม ACMECS ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่กรุงเทพ เดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งนายกฯ สปป. ลาว ได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุม และลาวได้แสดงความพร้อมจัดประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย- ลาว ณ สปป. ลาว ในช่วงปลายปีนี้ด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมบทบาทการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 6 ของเวียดนาม เชื่อมั่นว่า การประชุม GMS จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ชื่นชมแนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของเวียดนาม พร้อมทั้งยินดีที่จะให้การสนับสนุนการเติบโตของเวียดนามในทุกด้าน ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ชื่นชมนายกรัฐมนตรีในการแสดงบทบาทนำอย่างกระตือรือร้นในภูมิภาค และเป็นมิตรที่ใกล้ชิดของเวียดนามพร้อมแสดงความยินดีที่ไทยและเวียดนาม มีมูลค่าการค้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้เวียดนามดูแลสนับสนุน นักลงทุนจากไทยในสาขาต่างๆ เช่น ธนาคาร พลังงานลม การปิโตรเคมีและเร่งกระบวนการนำเข้ารถยนต์จากไทย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับนักลงทุนไทยตลอดว่าให้ปฏิบัติตามกฏ ระเบียบ กติกา การดูแลสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนของเวียดนามด้วย
นอกจากนี้ เรื่องการสัญจรข้ามแดน ไทย ลาว เวียดนาม ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหารือกัน ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวสนับสนุนการลงทุนจากไทยและพร้อมดูแลอย่างเต็มที่ พร้อมขอให้รัฐบาลไทยดูแลแรงงานเวียดนามในไทยด้วย เมื่อเสร็จสิ้นการหารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีมอบใบอนุญาตการลงทุนในโครงการอมตะ ซิตี้ ฮาลอง (AMATA City Halong) ที่นักลงทุนไทยกลุ่มอมตะฯ ได้เข้าลงทุนที่เวียดนาม ที่เมืองฮาลอง จังหวัดกว่างนิงห์ เป็นโครงการในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ผู้นำเมืองอัจฉริยะ (Smart City) บนพื้นที่การลงทุนใหม่ขนาด 5,789 เฮกตาร์ หรือ ประมาณ 36,200 ไร่
CR:รัฐบาลไทย