หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เตรียมจะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดเผยว่า เห็นด้วยที่จะส่งตีความ เพราะถ้าไปส่งภายหลังที่ร่างมีผลบังคับใช้แล้ว อาจจะมีความยุ่งยาก เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยออกมาในทางที่ดี ใช้เวลาวินิจฉัยไม่นาน เนื่องจากประเด็นที่ส่งวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายที่ไม่ได้มีรายละเอียดมากและซับซ้อน มั่นใจว่า ไม่กระทบการทำงานกกต.ในการเตรียมการเลือกตั้ง และไม่กระทบโรดแม็ปเลือกตั้ง
นายบุญส่ง แสดงความเห็นว่าการให้ผู้พิการหรือผู้สูงอายุมีผู้ช่วยลงคะแนนเสียงแทน ถือเป็นเรื่องที่ดีและจะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีผู้สูงอายุและผู้พิการไปลงคะแนนเสียงมากขึ้น ยังมองว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการแข่งขันทางการเมืองสูงมาก
ส่วนที่สนช.บอกว่าอาจจะให้กกต.ช่วยจัดการเลือกตั้งในช่วง 150 วันให้เร็วขึ้น ต้องสอบถามกกต.ทั้งคณะ และดูสถานการณ์ความพร้อมของพรรคการเมือง และทุกฝ่าย และดูคำสั่งต่างๆของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ถูกปลดล็อคหรือยัง
ส่วนช่วง 90 วันที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.รอมีผลบังคับใช้ กกต.จะทำงานได้เพียงใดขึ้นกับคำสั่งของคสช.และข้อกฎหมายต่างๆ และไม่ขอออกความเห็นเรื่องการจัดประชุมของพรรคการเมือง เพราะไม่ใช่หน้าที่กกต.
ทั้งนี้ กกต.ได้ส่งเรื่องขอให้คสช.แก้ไขคำสั่งที่ 53/2560 ไปให้คสช.พิจารณาแล้วใน 4-5 ประเด็นที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ยังไม่ได้รับการตอบกลับ กกต.เป็นห่วงว่าถ้ายังหาข้อสรุปไม่ได้ จะทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมีปัญหา นายบุญส่ง ไม่ขอออกความเห็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติจะส่งคำสั่งดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนการสรรหากกต.ชุดใหม่จำนวน 7 คนที่มีการกำหนดคุณสมบัติขั้นเทพ จะทำให้สรรหากกต.ชุดใหม่ได้ยากขึ้นหรือไม่ มองว่า อย่างสายอาชีพผู้พิพากษาหรืออัยการคงไม่มีทางมีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการสรรหากกต.กำหนดได้ เพราะเวลาที่ให้ดำรงตำแหน่งยาวเกินไป แต่เชื่อว่ายังมีแนวทางดำเนินการอยู่ ซึ่งขึ้นกับการตีความและการบังคับใช้ของผู้มีอำนาจว่าจะตีความอย่างไร
ผู้สื่อข่าว: ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร