นายกฯปัดให้คำตอบ สนช.ยื่นตีความร่างพรป.สส./ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ออกงานที่ญี่ปุ่น

30 มีนาคม 2561, 13:27น.


การเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ หรือ (GMS Summit) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 30-31มี.ค.นี้ ที่กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม



ก่อนการเดินทางนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงกรณีการยื่นตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจาก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) รวบรวมสมาชิกได้จำนวน 27 คน เพื่อขอให้ สนช. ส่งร่างกฎหมายดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งตามขั้นตอน ขณะนี้สนช.จะต้องส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อสอบถามว่าได้นำร่าง กฎหมายดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯแล้วหรือไม่ โดยสนช.จะต้องรอหนังสือตอบกลับจากนายกรัฐมนตรีก่อนซึ่งหากนายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯและนายกรัฐมนตรีจะไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ สนช.จะส่งคำร้องของสมาชิกทั้ง 27 คนไปยังศาลรัฐธรรมนูญวิฉัยต่อไป



ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี ยังไม่ตอบคำถาม กรณีที่ มีภาพนายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมงานเปิดตัวหนังสือของ นายอิชิอิ ฮาจิเมะ อดีตรัฐมนตรีกิจการภายในญี่ปุ่น ที่โรงแรมเเห่งหนึ่งในแขวงชิโยดะ เช่นกัน



สำหรับการเดินทางร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ นายกรัฐมนตรีจะหารือทวิภาคีกับ นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และจะเป็นสักขีพยานในพิธีมอบใบอนุญาตการลงทุน ในโครงการอมตะ ซิตี้ ฮาลอง จากนั้นหารือกับนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนประชุมระดับผู้นำภาคธุรกิจแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ในหัวข้อ “ค้นหาปัจจัยใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติเวียดนาม กรุงฮานอย



ส่วนกำหนดการในวันที่ 31 มี.ค.นี้ นายกรัฐมนตรี จะร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ของการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงฯ ในหัวข้อ “ปัจจัยสำคัญของแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6ประเทศ ในอันที่จะเพิ่มพูนประโยชน์จากผลสำเร็จที่ผ่านมา และการประสบความสำเร็จท่ามกลางภูมิทัศน์การพัฒนาของโลกที่เปลี่ยนแปลง” จากนั้นจะเป็นการประชุมเต็มคณะ ในหัวข้อ “การใช้ประโยชน์ของความร่วมมือและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อบูรณาการให้เกิดความมั่งคั่งร่วมกันในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา” หลังเสร็จสิ้นการประชุมนายกฯเดินทางกลับถึงประเทศไทยเวลา 16.00 น.วันเดียวกัน



 



 



ปิยะธิดา เพ็ขรดี  ผสข. 

ข่าวทั้งหมด

X