หลังจากที่มีข่าวว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้รวบรวมรายชื่อครบจำนวน 25 คน เพื่อเตรียมยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. เปิดเผยว่า เพิ่งกลับจากการไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ จึงยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน และก็ยังไม่ได้คุยกับประธานสนช.หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นทราบเพียงว่ามีสมาชิกสนช.จำนวนหนึ่งมองเห็นถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตของร่างดังกล่าวหลังการประกาศใช้ร่าง สมาชิกสนช.จึงต้องการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะได้แก้ไขปัญหาเรื่องความกังวลใจของหลายฝ่าย ที่เกรงว่าหากไม่ยื่นร่างในขณะนี้อาจจะส่งผลต่อโรดแม็ปเลือกตั้ง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังได้ จึงยอมเสียเวลา เชื่อว่า ไม่น่าจะกระทบกับโรดแม็ปเลือกตั้ง เพราะสามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเร่งตีความให้เร็วขึ้นเป็นพิเศษได้ อีกทั้งยังมีช่วงเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งสามารถขอให้ กกต.ร่นระยะเวลาช่วงนั้นให้เร็วขึ้นได้ สองกรณีนี้จะช่วยทำให้การยื่นตีความไม่กระทบต่อการจัดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ส่วนการที่สมาชิกสนช.เปลี่ยนใจยื่นร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ยืนยันว่าไม่ใช่การกลับลำ แต่เป็นสิทธิและดุลยพินิจของสมาชิกในการเข้าชื่อเพื่อเสนอให้ร่างเกิดความชัดเจน และแม้ว่าสนช.จะส่งร่างให้นายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ตามกฎหมายเมื่อยังอยู่ในกรอบเวลาที่จะยื่นส่งตีความได้ก็ถือว่าสนช.ยังมีสิทธิทำได้ ยอมรับว่าขณะนี้ยังมีการถกเถียงกันถึงเงื่อนเวลาที่สนช.สามารถยื่นศาลตีความได้ว่าต้องอยู่ในกรอบ 5 วัน หรือ 25 วันอยู่
ส่วนการประชุมสนช.ในวันนี้ที่มีวาระพิจารณากฎหมายเพียงฉบับเดียว คือ ร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ล่าสุดที่ประชุมสนช.ได้ลงมติในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการรับร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นผู้เสนอไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 185 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจำนวน 23 คน ระยะเวลาดำเนินงาน 60 วัน ที่ประชุมสนช.ยังมีวาระพิจารณาร่างแผนการปฏิรูปประเทศจำนวน 11 ด้าน ที่ครม.เป็นผู้เสนอด้วย
ผู้สื่อข่าว: ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร