+++ผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รับเรื่องที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)จำนวน 30 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 91, 92, 93, 94, 95 และ 96 ที่กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ซึ่งมีการกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการรับสมัคร และกระบวนการเลือกในบทเฉพาะกาลดังกล่าวได้กำหนดไว้แตกต่างไปจากการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามบททั่วไป มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ และแจ้งให้ประธาน สนช.ทราบ พร้อมพิจารณามอบหมายให้ผู้แทนสมาชิก สนช. ที่ลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 รวมทั้งให้นายกิตติ วะสีนนท์ ซึ่งเป็นผู้แทนของฝ่ายที่เสนอความเห็น ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จัดทำความเห็นเป็นหนังสือ โดยให้ยื่นต่อศาลภายในวันที่ 18 เมษายนนี้
+++นอกจากนี้ สนช.ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิก25-30 คน เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อส่งให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ และคาดว่าจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ในวันที่ 2 เมษายน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวว่า ถ้าหากในวันนี้มีการส่งเรื่องมาให้ก็จะมีการแถลงชี้แจง ถ้ารวบรวมรายชื่อครบแล้วจริงไม่ต้องผ่านวิป สนช. สามารถส่งเรื่องมาที่ประธาน สนช.ได้เลย ขั้นตอนจากนั้น จะต้องมีการตรวจสอบรายชื่อให้ถูกต้องตามขั้นตอนทางธุรการก่อน รวมถึงสอบถามไปที่สมาชิกว่าร่วมลงชื่อจริงหรือไม่ เพื่อความไม่คลาดเคลื่อน ขั้นตอนการตรวจสอบใช้เวลาไม่นาน
+++ทั้งนี้ สนช.ที่ยื่นรายชื่อส่วนใหญ่เป็นสนช.ที่งดออกเสียง และไม่ได้มาประชุมในวันที่ สนช.ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้นายกรัฐมนตรีตีกลับร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มายัง สนช.ก่อน แต่นายพรเพชรจะประสานไปยังนายกฯ ขอให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นทูลเกล้าฯไว้ก่อน เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาวินิจฉัยไม่เกิน 2 เดือน เพราะประเด็นเรื่องการตัดสิทธิข้าราชการการเมือง หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และประเด็นการให้เจ้าหน้าที่ กกต.กาบัตรลงคะแนนเลือกตั้งแทนคนพิการได้นั้นไม่ใช่ประเด็นซับซ้อนจึงไม่มีผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง
+++การประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการแก่พรรคการเมือง นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ระบุว่า เรื่องการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ในวันที่ 1 เมษายนนี้ เริ่มจัดให้มีสมาชิกให้ครบ สามารถสมัครใหม่ได้ ส่วนการประชุมกรรมการบริหารพรรคทำไม่ได้ แต่ต้องขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยผ่าน กกต.เสียก่อน
+++ส่วนคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 อะไรที่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การชำระเงิน การหาสมาชิก การประชุมใหญ่พรรค เรื่องความเท่าเทียม หรือการขัดกันในข้อปฏิบัตินั้น กกต.ได้เสนอขอแก้ไขไปแล้ว ต้องรอดูว่า คสช.เขาจะแก้ไขคำสั่งหรือไม่ เพราะอำนาจอยู่ที่ คสช. กกต.จะรวบรวมปัญหาที่คิดไม่ถึงที่ได้จากเวทีนี้นำเสนอไป
+++การตรวจสอบทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ติดเชื้อเอดส์ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ท.ในวันที่ 29 มีนาคม สำนักงาน ป.ป.ท.เตรียมเสนอสำนวนการตรวจสอบข้อเท็จริงการทุจริตเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พร้อมแผนประทุษกรรมที่ตรวจสอบพบให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.พิจารณาเพื่อลงมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนความผิดทางอาญากับผู้อำนวยการศูนย์และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตอย่างน้อย 5-10 จังหวัด
+++พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม. กล่าวถึง การสืบข้อเท็จจริง ปลัด พม. และรองปลัด พม.ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งมี พ.ต.ท.เธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ ผู้ตรวจราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสอบสวนได้รายงานผลสอบมาแล้ว ซึ่งหากพบว่ามีมูลความผิด จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงทันที และเมื่อเซ็นคำสั่งแล้ว คณะกรรมการเริ่มประชุมได้ในวันที่ 29 มีนาคม
+++ส่วนการตรวจสอบการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พบความเสียหายมูลค่าความเสียหายแล้วกว่า 100 ล้านบาท นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คาดว่า จะสามารถสรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงได้ ไม่เกินช่วงสงกรานต์ หรือภายในเดือนเมษายน
+++ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่าจากการที่ นพ.ธีระเกียรติ มอบหมายให้แต่หน่วยงานไปตรวจสอบกองทุนต่างๆ นั้น ในส่วนของสพฐ.พบว่ามีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการใช้เงินของกองทุน ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) ในสมัยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.เป็นเลขาธิการ กพฐ. นายการุณ ได้มอบหมายให้กลุ่มตรวจสอบภายใน สพฐ.เข้าไปตรวจสอบ พบว่าปี 2557-2558 มีการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ที่ผิดปกติ มีการโอนเงินอบรมพัฒนาครู ต่างประเทศ จำนวน 2 รอบวงเงินประมาณ 40 ล้านบาท ไปที่ศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี และมีการโอนเงินจากศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าบัญชี นางญาณกร จันทหาร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.ศูนย์ฯ เขตการศึกษา 5 จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 20 ล้านบาท ถึงแม้จะมีการคืนและนำเอกสารหลักฐานมาแสดงว่าล้างหนี้แล้วก็ถือว่ามีความผิด เนื่องจากปัญหาไม่ได้อยู่ที่เอกสารหลักฐาน การล้างหนี้ แต่อยู่ที่การดำเนินงานไม่เป็นไปตามมติของกองทุนฯ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง สรุปผลลงโทษ ไล่ออก นางญาณกร แล้ว
แฟ้มภาพ