ก่อนการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการแก่พรรคการเมืองเก่าที่จัดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อนุญาตให้พรรคการเมืองเก่าเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองบางอย่างได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือกับนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. และนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการกกต. ถึงกรณีที่สมาชิกพรรคไม่จ่ายเงินค่าบำรุงพรรคได้ทันภายในเวลา 30 วัน ตามที่คสช.กำหนดไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร เนื่องจากพบข้อกฎหมายที่เปิดช่องไว้ว่าแม้สมาชิกจะไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคการเมือง แต่สามารถรักษาสถานะการเป็นสมาชิกได้อีก 4 ปี ซึ่งคำสั่งคสช. ไม่ได้กำหนดชัดเจนไว้ว่ากรณีนี้สมาชิกจะต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่
นายศุภชัย กล่าวว่า กกต.คงไม่สามารถชี้แจงและตีความประเด็นนี้ได้ เนื่องจากไม่ทราบเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคำสั่งคสช. แต่ยืนยันว่าสิ่งใดที่อยู่ในอำนาจของกกต.ที่จะจัดการได้ กกต.ก็ยินดีช่วย แต่หากสิ่งใดที่ไปเกี่ยวโยงกับคำสั่งคสช. ก็ต้องไปถามคสช.ก่อน ยืนยันว่ากกต.จะรีบทำงานเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ นายอภิสิทธิ์ ได้เสนอให้ไปสอบถามความชัดเจนจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)
ส่วนพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวชี้แจงระหว่างประชุมว่า วันนี้ได้เตรียมข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติต่างๆทางการเมืองมาชี้แจงให้พรรคการเมืองทุกพรรคทราบ ซึ่งเป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ทั้งนี้พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับใหม่ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปจากฉบับเก่ามาก เช่น เรื่องทุนประเดิมในการจัดตั้งพรรคการเมือง การชำระค่าบำรุงพรรคตลอดชีพและรายปี เป็นต้น ซึ่งพรรคการเมืองต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ยืนยันว่า กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้ง ซึ่งยังต้องรอร่างกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ประกาศใช้ก่อน
สำหรับพรรคการเมืองเก่าที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้มีด้วยกัน 55 พรรคจาก 69 พรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร