กระแสข่าวการเตรียมจะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กลับมาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อให้สนช.เป็นผู้ส่งร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ นาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนและยังไม่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี แต่หากจะตอบในมุมกฎหมายก็จะได้ความว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ม.145 ได้กำหนดให้อำนาจ สนช. หรือ นายกฯ สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายได้ภายใน 25 วันนับแต่ร่างกฎหมายถูกส่งไปถึงนายกฯ ทั้งนี้ที่กำหนด 5 วันแรกไว้ในช่วง 25 วันก็เพื่อป้องกันฝ่ายบริหารทูลเกล้าฯร่างกฎหมายไปก่อนจะมีการทักท้วงแก้ไขจากฝ่ายสภาอย่างเช่นที่เคยเกิดในอดีต ส่วน 20 วันหลังเป็นช่วงระยะเวลาเตรียมเอกสารเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ
ทั้งนี้หากมีการยื่นร่างดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจริง นาย มีชัย ก็เชื่อว่า อาจจะไม่กระทบต่อโรดแม็ป หากมีการขอร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเร่งตีความร่างให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีช่วงเวลา 150 วัน ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) สามารถจัดการเลือกตั้งก่อนครบกำหนดได้ ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาการเลือกตั้งให้ไวขึ้นด้วย
ส่วนเรื่องคำทำนายที่ 7 ของนาย สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ขอให้ไปถามกกต.เอง เพราะเป็นหน้าที่ของกกต. ที่ต้องตีความ ส่วนที่กกต.เคยส่งหนังสือถามมานั้นกรธ.ตอบไม่ได้ เพราะไม่มีหน้าที่วินิจฉัยกฎหมาย ส่วนหากจะมีใครมองว่าเป็นกับดักทางการเมืองเพื่อให้คสช.ได้เปรียบนั้น ก็แล้วแต่คนจะคิด
นายมีชัยยืนยันว่า ตัวเองไม่ได้เป็นคนเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. ออกคำสั่งม.44 เพื่อทำการปลดนาย สมชัย ออกจากตำแหน่ง ส่วนการใช้ม.44 ในครั้งนี้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องไปอ่านรัฐธรรมนูญเอง แต่ขอระบุให้ทราบว่าม.44 สามารถจำกัดสิทธิ์บุคคลคนใดคนหนึ่งได้ หรือแม้สั่งประหารชีวิตคนก็ยังทำได้ ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็น แต่ม.44 จะมีผลถึงการถ่วงดุลอำนาจและความเป็นอิสระขององค์กรอิสระหรือไม่นั้น นาย มีชัย ระบุว่า แม้ตัวเองจะไม่ใช่องค์กรอิสระแต่ก็ยังแสดงความคิดเห็นได้เป็นประจำ แต่ในกรณีของนายสมชัย ต้องไปถามผู้เกี่ยวข้องเอง ส่วนการให้อำนาจกับบุคคลคนเดียวมากเกินไปด้วยการใช้ม.44 จะกลายเป็นการสร้างปัญหาหรือไม่ ตัวเองไม่ใช่คนชี้ขาดที่จะบอกได้ เพราะคนชี้ขาดมีอยู่แล้วตามบริบทของการตรวจสอบในแต่ละเรื่อง