การลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระหว่างกลางดง-ปางอโศก นาย ธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ระยะกลางดง-ปางอโศกนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง มีระยะทางทั้งสิ้น 3.5 กิโลเมตร โดยกรมเพิ่งเริ่มงานไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการเคลียร์พื้นที่นำวัตถุที่ไม่พึงประสงค์ออก และการทำงานดิน ซึ่งเสร็จเกือบจะสมบูรณ์หมดแล้ว โดยรวมถือว่าแผนงานคืบหน้ากว่าร้อยละ 7 สำหรับกรมทางหลวงจะทำเฉพาะตัวคันทางอย่างเดียว ที่เหลือจะให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ทำต่อ ซึ่งถือว่ากรมทางหลวงเป็นผู้เบิกร่องการก่อสร้างโครงการ
สำหรับการทำงานร่วมกับจีน ช่วงแรกมีปัญหาพอสมควร เนื่องจากจีนไม่ยินยอมให้ไทยใช้วัตถุก่อสร้างที่ไทยมี เพราะมองว่าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งในส่วนของปูนซีเมนต์ เหล็ก และแผ่นกันน้ำ กรมทางหลวงจึงตั้งคณะทำงานขึ้น 5 ชุดมาตกลงกับฝ่ายจีนและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ไปพิสูจน์อุปกรณ์ให้จีนดู จนได้ข้อสรุปว่าจีนยินยอมให้ไทยใช้วัสดุของตัวเองได้เกือบทั้งหมด โดยเหลือเพียงแค่แผ่นกันน้ำ จีโอ เมมเบรน อย่างเดียวที่ต้องซื้อจากจีนในราคาแผ่นละ 108 บาท ซึ่งกำลังรองบประมาณที่อยู่ในขั้นของการรถไฟ เพื่อนำมาจัดซื้อต่อไป รวมแล้วตลอดโครงการนี้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 371 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ต้องใช้ 425 ล้านบาท คาดว่าภายใน 4 เดือน งานของกรมทางหลวงในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะแล้วเสร็จทั้งหมด ทั้งนี้เมื่องานของกรมทางหลวงแล้วเสร็จ กรมทางหลวงยินดีที่จะเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานอื่นที่มารับช่วงต่อ และแม้ปัจจุบันการทำงานกับจีนจะราบรื่นขึ้น แต่ยอมรับว่ามีอุปสรรคเรื่องภาษาเป็นอย่างมากจนไม่แน่ใจว่ากรมทางหลวงจะรับทำต่ออีก 11 กิโลเมตรในระยะที่ 2 หรือไม่ ซึ่งคงต้องรอคุยอีกครั้งโดยวันนี้กรมทางหลวงได้สาธิตการนำแท่งเหล็ก 2 แท่งมาตอกลงยังพื้นดินเพื่อพิสูจน์ว่าพื้นดินแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักรางรถไฟและรถไฟได้
นาย ธานินทร์ ยังระบุถึง เหตุการณ์รถทัวร์พลิกคว่ำเมื่อคืนนี้จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 17 รายว่า วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์แล้ว และกรมทางหลวงได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าสภาพผิวถนนในพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีปัญหาและพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลย แต่ด้วยปัจจุบันรถนิยมขับเร็วมากขึ้น และรถทัวร์คันที่เกิดเหตุอาจมีระบบขัดข้องเครื่องยนต์และมาด้วยความเร็ว จึงทำให้เกิดเหตุดังกล่าว ทั้งนี้กรมทางหลวงมีมาตรการของบประมาณเพิ่มเพื่อปรับปรุงทาง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณหาทางเพิ่ม แต่ถ้าได้งบไม่พอ มีแนวคิดจะติดป้ายเตือนให้มากขึ้น และทำแท่งเเบริเออร์ให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ