การสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่น รามเกียรติ์จากจิตรกรรมรอบพระระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอนรามาวตาร นายอธิปัตย์ กมลเพ็ชร ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชั่น เล่าว่า การสร้างภาพภาพยนตร์แอนิเมชั่นครั้งนี้ ใช้วิธีถ่ายภาพแบบกริดจากจิตรกรรมรอบพระระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำนวน 30 ห้องภาพ เน้นเลือกถ่ายเฉพาะส่วนที่ใช้ในภาพยนตร์ จากนั้นนำภาพมาต่อกัน เพื่อรวมเป็นภาพเดียวที่มีขนาดใหญ่เท่าของจริง ใช้วิธีการตัดภาพหรือไดคัทเพื่อแยกส่วนประกอบตัวละครออกจากกัน ก่อนจะทำส่วนของการเคลื่อนไหว โดยรวมแล้วจะได้ภาพตัวละครที่เก็บไว้ใช้กว่า 100,000 ภาพ ซึ่งกระบวนการขณะนี้อยู่ในระหว่างการเขียนบทและจัดทำสตอรี่บอร์ดลำดับภาพ ตามเหตุการณ์
ส่วนบทพากย์ ใช้บทพูด ผสมกับคำโบราณบางคำ เพื่อให้สอดคล้องตามภาพ เบื้องต้น ยังไม่มีการวางตัวผู้พากย์ไว้ แต่ตั้งใจว่าจะใช้เสียงที่คุ้นเคย ให้ความรู้สึกถึงความทันสมัย สามารถสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ ซึ่งการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ มีแนวคิดที่ใช้เนื้อเรื่องจากบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นแกนหลัก เนื่องจาก มีความครบถ้วนที่สุด โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์ให้กระชับ สื่อสารกับเยาวชนรุ่นใหม่ได้อย่างเข้าใจ ในเวลา 40 นาที พร้อมกับยึดหลักการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมให้สามารถเคลื่อนไหวได้ มีความลึกกว่าแอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ทำให้ผู้ชม รู้สึก มีส่วนร่วมอยู่ในภาพยนตร์นั้น ไม่รู้สึกถึงภาพมิติเดียวที่เป็นภาพจิตรกรรม
ส่วนการเคลื่อนไหวเน้นแบบไทย อ่อนช้อยงดงาม โดยจัดให้ทีมงานผู้ทำแอนิเมชั่น ไปศึกษาเรื่องโขนกับผู้เชี่ยวชาญ เป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อซึมซับอากัปกิริยาการเคลื่อนไหวนำมาตีความในรูปแบบภาพยนตร์ อีกทั้งยังมีการใช้เพลงประกอบภาพยนตร์แบบร่วมสมัย โดยได้นายประสาท ทองอร่าม หรือครูมืด มาเป็นที่ปรึกษาด้านดนตรีประกอบและอากัปกิริยาของโขน โดยส่วนตัวไม่มีความกังวลว่าภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้จะเข้าถึงยากสำหรับเด็กและเยาวชน เพราะได้คำนึงถึงการเล่าเรื่องให้มีความสนุก และมีความสวยงามของภาพมาประกอบทำให้เกิดความน่าสนใจ
ผู้สื่อข่าว: เกตุกนก ครองคุ้ม