หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือสว.เฉพาะบทเฉพาะกาลว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
นาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ย้ำว่า กรธ.ไม่ได้เป็นผู้เสนอให้สนช.ยื่นตีความร่างดังกล่าว แต่สื่อไปนำเสนอกันเอง ยืนยัน บอกแค่ว่าให้สนช.พิจารณาตามสมควร เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจของสนช. ซึ่งหากผิดพลาดอะไรในอนาคตสนช.ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วย แต่กรธ.ก็ตั้งประเด็นไปให้สนช.ว่าบทเฉพาะกาลอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ สุดท้ายแล้วต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร
ส่วนตัวมองได้เป็น 3 แนวทาง แนวทางแรก คือ วินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าออกเช่นนี้ก็ถือว่าได้ข้อยุติ และนำร่างฯส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ทันที แนวทางที่สอง คือ วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ขัดในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ถ้าเป็นเช่นนี้เฉพาะประเด็นที่ขัดก็จะถูกตัดไป แล้วสามารถนำร่างฯส่งไปตามขั้นตอนต่อได้ เมื่อใดที่ร่างฯประกาศใช้ค่อยไปปรับแก้ให้สอดคล้อง ยืนยันว่าการแก้ไขจะไม่ยาก เพราะกรธ.ยังอยู่ แนวทางที่สามคือ วินิจฉัยว่าร่างฯขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการขัดในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ เช่นนี้จะทำให้ร่างฯตกไปทั้งฉบับ แล้วกรธ.จะต้องเป็นผู้เริ่มร่างใหม่ทั้งฉบับ ยอมรับว่าผลเช่นนี้จะกระทบโรดแมป แต่การร่างใหม่ก็จะเร็วขึ้นกว่าที่เคยร่างมา เพราะกรธ.พอรู้แนวแล้ว
ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. มองว่าถ้ามีเวลาก็ควรยื่นเสียแต่ตอนนี้ให้จบ แต่ถ้ากังวลว่ายื่นช่วงนี้แล้วจะกระทบโรดแมปจึงไม่ยื่น ก็พอมีเหตุผลให้รับฟังได้ แล้วจะไปยื่นในช่วงที่กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วก็ได้ ส่วนตัวยังมองว่าร่างฯนี้ไม่น่าถูกเอามาใช้เป็นเกมการเมืองของผู้ไม่หวังดี ส่วนประเด็นที่กรธ.ทักท้วงไปสองประเด็นเรื่องตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและให้เจ้าหน้าที่ช่วยผู้พิการกาบัตรลงคะแนน มองว่าทั้งสองประเด็นจะไม่มีผลกระทบรุนแรงจนถึงขั้นทำให้การเลือกตั้งต้องล้มไป ในเรื่องให้เจ้าหน้าที่ช่วยกาบัตรอย่างมากสุดก็แค่อาจจัดเลือกตั้งใหม่ในเขตที่มีการฟ้องร้อง แต่ถ้าผลคะแนนที่ออกมาห่างกันมากก็ไม่จำเป็นต้องจัดเลือกตั้งใหม่
ส่วนเรื่องตัดสิทธิ์ ในอนาคต หากผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมและอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็สามารถฟ้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อเรียกสิทธิ์คืนมาได้ ส่วนตัวจะไม่ทำหนังสือส่งนายกฯให้พิจารณาส่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะภารกิจกรธ.จบที่สนช. และแม้ตัวเองจะเป็นหนึ่งในคสช. แต่เรื่องนี้ก็ไม่มีการคุยกันในคสช. และคสช.ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ส่วนที่สนช.ยื่นข้อเสนอให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันหากจะให้ส่งร่างฉบับนี้ตีความ มองว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองไม่ยอมแน่
ด้านความเคลื่อนไหวที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง นาย มีชัย มองว่า ต้องดูว่านิยามและวิธีการของพรรคคืออะไร ถ้าเป็นคอมมิวนิสต์จริงคงทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายที่ขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นกับนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้วินิจฉัย ขณะนี้ถือว่าพรรคและผู้ยื่นจัดตั้งยังไม่มีความผิด เพราะยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดที่ต้องมีการกระทำ โดยการกระทำที่ว่าเช่น การเผยแพร่ลัทธิหรือนโยบายคอมมิวนิสต์ ส่วนชื่อพรรคแม้จะส่อไปทางคอมมิวนิสต์แต่ยังไม่มีความผิด
ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร ผสข.