พันเอก หญิง ศิริจันทร์ งาทอง ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 หรือตั้งแต่ 14 กรกฎาคม 2560-12 มีนาคม 2561 มีการร้องเรียนผ่านศูนย์ฯ จำนวน 3,664 เรื่อง แยกเป็น ความเดือดร้อนทั่วไป 1,758 เรื่อง, การทุจริตประพฤติมิชอบ 594 เรื่อง, ยาเสพติด 442 เรื่อง และเป็นเรื่องที่มีข้อมูลไม่ชัดเจน 856 เรื่อง โดยกรณีร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐมีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว 157 เรื่อง พร้อมกับนำเรื่องเข้าสู่การดำเนินคดีตามกฎหมาย
โดยในการตรวจสอบขบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ป่วยเอชไอวี (เอดส์) ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ที่นำไปสู่การตรวจสอบปัญหาการทุจริตโครงการรัฐอีกหลายโครงการ นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) เปิดเผยว่า ปัญหาการทุจริตต่างๆ มีการทำงานเป็นขบวนการและมีวิธีการคล้ายกัน ทำมาหลายปีแล้ว และต้องมีข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการโกงเงินคนจน ถือเป็นการประจานระบบราชการครั้งใหญ่
วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) โดยพันตำรวจโท สามารถ ไชยณรงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 9 และเจ้าหน้าที่กองอำนวยการต่อต้านการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ท. เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีใช้เงินงบประมาณช่วยเหลือผู้ยากไร้ ปีงบประมาณ 2560 ของนิคมสร้างตนเองจังหวัดสตูล โดยลงตรวจสอบพื้นที่ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ภาพรวม 6 จังหวัดพื้นที่รับผิดชอบของ ป.ป.ท.เขตพื้นที่ 9 ได้แก่ สงขลา พัทลุง สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส คาดว่าจะสรุปสำนวนนำเสนอ ป.ป.ท.ได้ภายในเดือนเมษายนนี้
ส่วนความคืบหน้ากรณีกลุ่มตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ตรวจพบการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกว่า 88 ล้านบาท นั้น ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีคำสั่งให้มีการตรวจสอบทุกกองทุนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเฉพาะกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งก็มีการบริหารโดยคณะกรรมการจากภายนอก กับยังมีกองทุนอาหารกลางวัน ซึ่งทางกพฐ. ยอมรับว่าการสำรวจในบางพื้นที่มีปัญหา เช่นเป็นพื้นที่สูงที่อยู่ห่างไกล พื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ และพื้นที่เสี่ยง จึงต้องขอเวลาสำรวจ
นอกจากนี้ยังมีกรณีของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สพฐ. ที่รายงานว่า โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ สังกัด สศศ. มีครูและลูกจ้างชั่วคราวได้รับเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต 53 คน จากโรงเรียน 41 แห่ง โดยลูกจ้างชั่วคราวส่วนใหญ่ได้รับเงินล่าช้าหรือไม่มีการโอนเงิน
ส่วนคดี นายเปรมชัย กรรณสูต กับพวกรวม 4 คน ล่าสัตว์ป่าคุ้มครองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ พ.ร.บ.ป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ รวม 9 ข้อหา สรุปสำนวนคดีส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนายเปรมชัย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันครอบครองงาช้าง, ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน และติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพิ่มเติมอีก 3 ข้อหา แต่ให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา พร้อมกับระบุว่าไม่ได้เป็นคนฆ่าเสือดำ นอกจากนี้ ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ยังตั้งข้อหาร่วมกันติดสินบนกับนายเปรมชัย และนายยงค์ โดดเครือ คนขับรถของนายเปรมชัย เพิ่มอีก 1 ข้อหา โดยทั้งสองคนจะมารับทราบข้อกล่าวหาวันที่ 20 มีนาคมนี้
ในวันเดียวกันนางคณิตา กรรณสูต ภรรยานายเปรมชัย และน.ส.วันดี สมภูมิ ผู้ที่ลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นงาช้างบ้าน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ บก.ปทส. ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันครอบครองงาช้าง ตามที่ทำหนังสือขอเลื่อนนัดเป็นวันที่ 20 มีนาคม
โดยในช่วงสุดสัปดาห์มีกลุ่มประชาชนหลายกลุ่มร่วมจัดกิจกรรมทั้งในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด และในวันที่ 25 มีนาคม นี้จะมีการจัดกิจกรรมที่หอนาฬิกา หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ด้านน.ส.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า คดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ นอกจากเสือดำแล้วยังมีไก่ฟ้าตัวหนึ่งที่เป็นเจ้าทุกข์ด้วย โดยห้องแล็บนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ มั่นใจ 100% ว่าซากไก่ฟ้าที่พบ เป็นไก่ฟ้าหลังเทาไม่ใช่ไก่ฟ้าหลังขาว
วันนี้ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมด้วยแกนนำ กปปส. 9 คน และ แกนนำชุดที่2 นำโดย หลวงปู่พุทธะอิสระ 14 คน รวม 23 คน. จะตรวจสอบพยานหลักฐานในข้อหาก่อการร้ายและกบฎ. ตามที่ศาลนัดตรวจหลักฐานรวม 2 คดี
และปิดท้ายที่มีการเผยแพร่ภาพตลาดนัดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 ซึ่งเป็นผู้ค้าที่ย้ายมาจากตลาดเถื่อน 5 แห่งรอบบ้านของนางบุญศรี แสงหยกตระการ ที่ถูกปิดไป ต่อมานายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผอ.เขตประเวศชี้แจงว่า เป็นพื้นที่ว่างของเอกชนทางสำนักงานเขตประเวศส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจาขอความร่วมมือไม่ให้ขายของพร้อมติดประกาศระบุว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 จึงกำชับเจ้าหน้าที่ทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการขายของอีก