เวทีสาธารณะ มองพลังโลกโซเชียล เกาะติดปัญหาสังคม แต่เตือนให้ไตร่ตรองก่อนเชื่อ

17 มีนาคม 2561, 12:07น.


การสัมมนาสาธารณะ “พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย จริงหรือ?” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พลังในโซเชียล ส่งผลกับการเมืองโดยตรง เช่น ประเด็นนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับความนิยมในรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมไปถึงหน้าที่การตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ถูกจับตามองจากสังคม จนไม่สามารถบิดเบือนการตรวจสอบได้



นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการดำเนินคดีกับนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่เข้าไปล่าเสือดำในทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ที่เป็นพลังในการกดดันการตรวจสอบ ถ่วงดุลของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในบางเรื่องโซเชียลยังมีจุดอ่อนที่จะต้องระมัดระวัง คือ ประเด็นการเลือกตั้ง ที่อาจจะนำมาซึ่งผู้นำที่เป็นประชานิยม บวกกับเผด็จการ เนื่องจากโซเชียล จะเน้นเรื่องความรวดเร็ว ง่ายดาย แต่ขาดการไต่รตรอง แลกเปลี่ยน ส่วนตัวมองว่าการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งห้ามไม่ให้คนโพสโซเชียลก่อนการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้จริง ขณะที่ประเทศไทย จะต้องตั้งรับกับการแก้ไข จัดการปัญหาข่าวลวงที่เกิดขึ้น



ด้านผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ข้อเสียของโซเชียล คือ คนสุดโต่ง หากันเจอได้มากขึ้นและง่ายขึ้น เช่น กรณีการก่อการร้าย และในระบบการศึกษา มีการสอนให้ใคร่ครวญน้อยมาก ประกอบกับในยุคปัจจุบัน ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ แต่คนรับสารยังขาดพิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน



ทั้งนี้ในปัจจุบันตามเพจในโซเชียล เริ่มมีการตรวจสอบกันเอง จึงเชื่อได้ว่าขณะนี้เรากำลังเริ่มอยู่ในช่วงเรียนรู้ในเรื่องนี้ และทั้งหมดถือเป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้น



ส่วนตัวมองว่า ประเด็นในโซเชียล ที่จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล คือ กรณีการเสียชีวิตของ นายภัคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 อายุ 19 ปี ประเด็นนาฬิการหรู ของพลเอกประวิตร และการขยับโรดแมปการเลือกตั้งของรัฐบาล



ผู้สื่อข่าว :ปภาดา พูลสุข



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X