การเดินทางเยือนประเทศออสเตรเลีย ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018 ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2561 ณ นครซิดนีย์ หลังจากที่เมื่อเช้านี้ นายกรัฐมนตรี เดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) กองทัพอากาศ และเดินทางถึงท่าอากาศยาน Kingsford Smith นครซิดนีย์ เวลา 21.20 น. ตามเวลาท้องถิ่นแล้ว โดยเวลาที่นครซิดนีย์เร็วกว่ากรุงเทพฯ 4 ชั่วโมง
ก่อนหน้านี้ พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาระกิจของนายกรัฐมนตรี ในวันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2561 เวลา 09.30 นายกรัฐมนตรี หารือกับทีมประเทศไทยและนักธุรกิจไทย เวลาประมาณ 13.00 น. นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับนายมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาตินครซิดนีย์ หลังจากนั้น เวลา 15.15 น. นายกรัฐมนตรี ร่วมงานเลี้ยงน้ำชาแผนโคลัมโบฉบับใหม่ จากนั้นเวลา 17.15 น. นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองต้อนรับผู้นำอาเซียนและผู้แทนภาคเอกชน ช่วงเย็น เวลา 19.00 น. นายกรัฐมนตรีร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำสำหรับผู้นำ (Leaders’ Dinner)
วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2561เวลา 08.40 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018 แบบเต็มคณะ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาตินครซิดนีย์ เวลา 12.45 น. นายกรัฐมนตรีร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำ จากนั้นเวลา 14.45 น. การประชุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำ (Leaders’ Retreat) และในเวลาประมาณ 17.00 น. นายกรัฐมนตรีพบปะชุมชนไทยในออสเตรเลีย ณ โรงแรมที่พัก
วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2561 เวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีเดินทางออกจากท่าอากาศยาน Kingsford Smith นครซิดนีย์ โดยเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) กรุงเทพฯ ในเวลา 14.30 น.
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เป็นการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียครั้งแรก ตามแนวคิดของนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งผู้นำอาเซียนเห็นชอบด้วย โดยไทยหวังใช้โอกาสนี้ในการเปิดโฉมใหม่ของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-ออสเตรเลีย ท่ามกลางสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดความไม่แน่นอนในภูมิภาค เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกทางยุทธศาสตร์แก่อาเซียนและไทย ขณะที่ออสเตรเลียประสงค์จะส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งของภูมิภาคผ่านการประชุม ฯ นี้ด้วยเช่นกัน
เอกสารผลลัพธ์สำคัญในการประชุมฯ ครั้งนี้ คือ “ปฏิญญาซิดนีย์” มีสาระสำคัญในการผลักดันให้อาเซียนและออสเตรเลียทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างภูมิภาคที่มั่นคงและมั่งคั่งสำหรับประชาชน
ทั้งนี้ ออสเตรเลียยังเป็นประเทศคู่เจรจาที่เก่าแก่ที่สุดของอาเซียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 (44 ปี) และเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 การประชุมครั้งแรกระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำออสเตรเลียเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2520 ซึ่งเป็นการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เฟรเซอร์ และผู้นำอาเซียน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
CR:รัฐบาลไทย