การเสวนา “ย้อนรอย ต่อยอด บุพเพสันนิวาส” วันนี้มีการพูดถึงละครบุพเพสันนิวาส ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษา คำพูด เนื้อหาประวัติศาสตร์ อาหาร และผ้าไทยในละคร และความนิยมในการไปเที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ในละคร นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยดูละครเรื่องบุพเพสันนิวาส แต่เมื่อช่วงต้นเดือน มีการประชุม และได้รับรายงานว่าหลังจากที่ละครเรื่องดังกล่าวออกอากาศ วัดไชยวัฒนาราม มีคนไปเที่ยวในวันธรรมดา ประมาณวันละกว่า 2,000 คน ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ มีคนไปเที่ยววันละกว่าหมื่นคน จึงไม่อยากให้กระแสนี้หายไป จึงต้องการให้มีการต่อยอดในเรื่องต่างๆ
ด้านนายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ยืนยันว่า คำว่า “ออเจ้า” ในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส มีใช้จริงในยุคกรุงศรีอยุธยา ใช้เรียกในกลุ่มคนมีฐานะ เรียกระหว่างคนรุ่นเดียวกันหรืออายุน้อยกว่า และคำว่า “ออเจ้า” ยังมีในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนด้วย ขณะที่ภาษาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะไม่เหมือนกับกรุงเทพมหานคร แต่จะเหมือนกับชาวจังหวัดสุพรรณ และจังหวัดนครราชสีมา
นายบุญเตือน ระบุว่า ส่วนตัวเป็นผู้ชำระวรรณคดีมากว่า 20 ปี หนึ่งในนั้นรวมทั้งหนังสือจินดามณี หนังสือเรียนเล่มแรกของไทย ซึ่งพระโหราธิบดีเป็นผู้เขียน และในละครมีการกล่าวถึง โดยคาดว่าในวันศุกร์นี้หนังสือจินดามณีจะตีพิมพ์เสร็จเรียบร้อย พร้อมให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา
ส่วนนายคเณษ พณัฐเมทินี ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และอาหารไทย ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า ครอบครัวของตนดั้งเดิมเป็นชาวมาลายู ปัตตานี ย้ายมาตั้งรกรากในพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นครอบครัวเดียวที่ยังคงทอผ้าอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอดีต ผู้คนในกรุงศรีอยุธยา จะใช้ผ้าสอดคล้องผ้าจากทางภาคใต้ ขณะที่อาหารการกิน แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะมีความอุดมสมบูรณ์ แต่กลับเป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย ส่วนใหญ่จะเน้นกินปลาและพืชผักตามรั้วบ้านทั่วไป กินกับน้ำพริกเป็นหลัก มีวัตถุดิบในการประกอบอาหาร คือ กะทิ และน้ำมันมะพร้าว ส่วนน้ำตาลจะใช้น้ำตาลอ้อยเคี่ยว น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว ส่วนน้ำตาลทรายจะเข้ามาในยุคค้าขายกับต่างประเทศ
สำหรับในละครเรื่องดังกล่าวจะมีตัวละครหลักที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ด้านขนมไทย คือท้าวทองกลีบม้า ที่เป็นผู้ประดิษฐ์ขนมไทยหลากหลายชนิดจนได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หากต้องการให้กระแสความนิยมท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่หายไป ผู้ประกอบการในพื้นที่อาจจะต้องมีการประยุกต์ขายอาหาร และขนมที่เป็นเมนูในประวัติศาสตร์มาขายให้กับนักท่องเที่ยว
ปภาดา พูลสุข ผสข.