องคมนตรี ลงพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช ติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ พัฒนาทรัพยากรน้ำแบบผสมผสาน

15 มีนาคม 2561, 12:02น.


การติดตามโครงการพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พล.อ.ธีรชัย นาควานิช องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคใต้ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางมาติดตามความคืบหน้า เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของราษฎรและให้การดำเนินงานของโครงการเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมกับเยี่ยมชมกิจกรรมต่าง ๆ ของเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ





สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมซ้ำซากตลอดจนปัญหาน้ำทะเลรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก ประกอบกับการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมาะสมและไม่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมนำไปสู่วิกฤตทางธรรมชาติ  จึงได้พระราชทานพระราชดำริในการวางแนวทางโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบลุ่มน้ำ เป็นการพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบผสมผสานโดยมีการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาอาชีพ ควบคู่กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม





จากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริในการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เพื่อปิดกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนัง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด พร้อมก่อสร้างคลองระบายน้ำหลัก 4 สาย ควบคุมการระบายน้ำให้ไหลออกสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้วันละประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำท่วมขังออกจากคลองสายหลักได้ภายใน 20 วัน





นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแนวเขตการใช้ที่ดินที่ถูกต้องและชัดเจน เพื่อแยกพื้นที่ใช้น้ำจืดและน้ำเค็มออกจากกัน รวมถึงการพัฒนาระบบชลประทานทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการใช้น้ำ ส่งผลให้เพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวได้มากขึ้นจำนวน 400,000 ไร่ รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาอาชีพอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ การทำสวนไม้ผล ไร่นาสวนผสม การเลี้ยงปลา การปลูกต้นจาก และปลูกผักปลอดสารพิษ





ขณะเดียวกัน ได้ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และป่าต้นน้ำจนเกิดความสมดุลในระบบนิเวศน์ อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยยึดระเบียบที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ศึกษาฯ มาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดการขยายผลการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง





นอกจากนี้ มีการบูรณาการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมพัฒนาแบบผสมผสานโดยยึดหลักสำคัญคือ การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต้องพัฒนาอย่างมีระบบพร้อมไปกับการพัฒนาองค์กรเกษตรกร เพื่อสร้างตัวแบบการพัฒนา ซึ่งปัจจุบันมีการขยายผลสำเร็จจนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ จำนวน 9 แห่ง





ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X