การจัดเวทีประชาชนกล่าวหา-ตรวจสอบการคอร์รัปชั่น "กรณีโกงอำนาจ" ของหน่วยงานรัฐ โดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายประชาชน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงการทุจริตโครงการเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ และกองทุนเสมาพัฒาชีวิต ว่า เป็นสิ่งที่เนื่องมาจากการตรวจสอบของสตง. ซึ่งพบข้อพิรุธ โดยนายพิศิษฐ์ ระบุว่า การโกงรูปแบบดังกล่าว เป็นการโกงแบบสิ้นคิด โดยการสร้างหลักฐาน ปลอมลายเซ็นต์ และฝ่ายบริหารจะคำนึงแค่เพียงตัวเลขสถิติการช่วยเหลือ เพื่อโปรโมทสร้างผลงานเท่านั้น แต่ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าฝ่ายปฏิบัตินำเงินก้อนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ ดังนั้นผู้บริหารต้องติดตาม ตรวจสอบ ควบคุมการประเมินผลงานตามนโยบาย ไม่เช่นนั้น จะถือว่าเป็นการเปิดช่องให้ข้าราชการอาศัยช่องว่างดำเนินการและนำตัวเลขมาเพื่อขอเพิ่มตำแหน่งได้ ส่วนตัว เชื่อว่า รัฐบาลจะขยายผลดำเนินการกับผู้กระทำผิดในกรณีนี้ได้
ขณะที่ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีเลิกปกปิด เพราะเมื่อมีการเปิดเผยการทุจริตนายกรัฐมนตรีจะโยนไปให้รัฐบาลอื่น แต่รัฐบาลนี้กลับมีการทุจริตมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา โดยนายวิลาศ อ้างว่า พบว่ามีเอกสารโครงการทุจริตภัยแล้งในรัฐบาลนี้กว่าร้อยละ 90 จึงถือว่าตรงข้ามกับการที่บอกว่าเมื่อมีรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) การทุจริตจะลดลง
นายวิลาศ กล่าวว่า ขอให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการอย่างจริงจังไม่ละเว้นผู้ใด โดยเฉพาะเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่นที่ 12 และวปอ.รุ่น 50 รวมถึงการตรวจสอบเรื่องนาฬิกาหรูที่ต้องสร้างมาตรฐานของคำว่าทรัพย์สิน หากเป็นการยืมก็ไม่จำเป็นต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพราะกรณีที่ผ่านมาไม่สามารถอ้างเช่นนั้นได้ นายวิลาศ กล่าวว่า แม้ว่านายกรัฐมนตรีพูดว่าจะไม่เล่นการเมือง แต่คำพูดกลับยิ่งกว่านักการเมืองเพราะสามารถพูดหาทางหนีทีไล่ได้เป็นอย่างดี
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อ้างว่า มีการหาทุนในการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนใครบางคน พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าจะมีการโกงเพื่อให้ได้เงินมาสนับสนุน ในลักษณะดำเนินการให้ใบอนุญาต โดยอ้างถึงกรณีการจะทำทีโออาร์ ในการต่อสัมปทานในแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ บงกช ซึ่งจะหมดอายุในช่วงปี 2565 และ 2566 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี และการที่กระทรวงพลังงาน ได้มีการออกกฎกระทรวง ให้มีการแบ่งปันกำไร จากกฎหมายที่กำหนดไว้ให้รูปแบบแบ่งปันผลผลิต ดังนั้นจะส่งผลให้รัฐต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของเอกชน ถือว่าผิดกฎหมายและทำให้การคลังของประเทศเสียหายได้
นายธีระชัย กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นการเตือน และการตั้งข้อสังเกต เพื่อขอให้พิจารณายับยั้งเพราะหากรัฐบาลดำเนินการเช่นนี้จริง อาจถือว่าเข้าข่ายการทุจริตตามที่ได้กล่าวมาได้ เพราะพลังงานสามารถสร้างประโยชน์ และคนที่มีอำนาจรัฐสามารถเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ได้
ผู้สื่อข่าว : ปิยะธิดา เพชรดี